การผลิตถูกกระทำขึ้นที่สตูดิโอนาฬิกาชินชู (ตั้งอยู่ในโรงงาน ชิโอจิริ ของบริษัท ไซโก เอปสัน) คาลิเบอร์ สปริงไดรฟ์ ของ Grand Seiko ได้รวบรวมที่สุดของระบบจักรกล (ให้แรงบิดสูงและมีแหล่งพลังงานที่ต่อเนื่อง) และระบบอิเล็กทรอนิก (ให้ความแม่นยำสูงและมีเสถียรภาพสูง) เข้าไว้ด้วยกัน สอดคล้องกับชื่อที่เรียกขานว่า สปริงไดรฟ์ กลไกชนิดนี้ใช้ระบบขบวนเฟืองจักรกลเป็นแรงขับเคลื่อน โดยมีสปริงลานและตลับลานเป็นแหล่งพลังงานแต่เพียงอย่างเดียว และนำมาจับคู่กับการควบคุมด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะให้ความแม่นยำและความน่าเชื่อถือได้ในระดับสูงสุด คุณสมบัตินี้ยังคงอยู่อย่างครบถ้วนในนาฬิกา สปริงไดรฟ์ โครโนกราฟ ของ Grand Seiko ซึ่งอาจทำให้เป็นกลไกจับเวลาที่มีความแม่นยำสูงสุดในหมู่บรรดากลไกโครโนกราฟระบบจักรกลทั้งมวลที่มีจำหน่ายอยู่ในขณะนี้
แทนที่จะใช้ระบบการควบคุมแบบดั้งเดิมที่กระทำผ่านกลไกปล่อยจักร กลไก สปริงไดรฟ์ จะใช้ตัวควบคุมที่เรียกว่า Tri-Synchro Regulator (ไตร-ซิงโคร เรกูเลเตอร์) ซึ่งจะควบคุมพลังงาน 3 รูปแบบ ได้แก่ จักรกล ไฟฟ้า และแม่เหล็กไฟฟ้า มากำหนดการบอกเวลาของกลไก กลไกชนิดนี้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่หรือแหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้า แต่จะผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่เพียงพอสำหรับจ่ายให้กับวงจรรวมจากการคลายของสปริงลาน โดยพื้นฐานแล้ว ระบบสปริงไดรฟ์ เป็นการใช้คุณสมบัติที่ดีที่สุดจากทั้งกลไกระบบจักรกลและกลไกระบบควอตซ์ และกำจัดจุดอ่อนบางประการของกลไกแต่ละระบบ เช่น จุดอ่อนของกลไกปล่อยจักรในกลไกระบบจักรกล และการต้องพึ่งพาพลังงานจากแบตเตอรี่ของกลไกระบบควอตซ์
กลไกโครโนกราฟระดับเรือธงของ Grand Seiko คือ กลไก สปริงไดรฟ์ คาลิเบอร์ 9R86 อันเป็นกลไกที่มีความซับซ้อนสูงซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนมากกว่า 400 ชิ้น กลไกแต่ละเครื่องถูกประกอบขึ้นด้วยมือโดยเหล่าช่างฝีมือผู้มีทักษะสูงของ Grand Seiko กลไกคาลิเบอร์นี้สำรองพลังงานได้ 72 ชั่วโมง (แม้ในขณะที่ระบบโครโนกราฟจับเวลากำลังทำงานอยู่) และนอกจากคุณสมบัติของระบบโครโนกราฟที่สามารถจับเวลาที่ล่วงผ่านไปได้ถึง 12 ชั่วโมงแล้ว ยังมีฟังก์ชั่น GMT (จีเอ็มที) ซึ่งทำให้ผู้สวมใส่สามารถดูเวลาของอีกเขตเวลาหนึ่งได้ คาลิเบอร์ 9R86 มีอัตราความแม่นยำถึง +/-15 วินาทีต่อเดือน ส่วนคาลิเบอร์ 9R96 ที่ได้รับการปรับตั้งมาเป็นพิเศษจะให้อัตราความแม่นยำถึง +/-10 วินาทีต่อเดือน ที่สำคัญก็คือ กลไกทั้ง 2 คาลิเบอร์นี้สามารถจับเวลาที่ล่วงผ่านไปได้ถึง 12 ชั่วโมงด้วยความแม่นยำในระดับเดียวกัน
Grand Seiko ใช้คุณสมบัติของ 2 รูปแบบกลไกอันเป็นที่ยอมรับในความเยี่ยมยอดมาอย่างยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งฟังก์ชั่นโครโนกราฟที่มีความแม่นยำและไม่มีข้อผิดพลาด
รูปแบบกลไกแรกก็คือ Column Wheel (คอลัมน์วีล) ชิ้นส่วนโครงสร้างคล้ายป้อมปืนที่อยู่ในกลไกโครโนกราฟซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการจับเวลา และยังทำให้เกิดความรู้สึกที่ชัดเจนในขณะทำการใช้งานกลไกจับเวลา ผู้ใช้งานจะรู้สึกถึง “จังหวะคลิก” ที่เด็ดขาดซึ่งทำให้มั่นใจถึงความแม่นยำในการเริ่ม หยุด และรีเซ็ต การจับเวลา เนื่องจากโครงสร้างที่มีความซับซ้อน จึงไม่ได้พบเห็น Column Wheel กันได้ทั่วไปในกลไกโครโนกราฟยุคปัจจุบันเนื่องจากโดยทั่วไปแล้วจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ทั้งยังต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าในการผลิตและตกแต่ง
รูปแบบกลไกที่สอง คือ Vertical Clutch (เวอร์ติคัล คลัตช์ – คลัตช์แนวดิ่ง) ซึ่งเป็นระบบส่งกำลังสำหรับกลไกโครโนกราฟที่มีความน่าเชื่อถือสูง และเป็นระบบที่ผู้หลงใหลในกลไกจักรกลชื่นชอบมากกว่าระบบ Horizontal Clutch (ฮอริซอนทัล คลัตช์ – คลัตช์แนวระนาบ) ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าและมีประสิทธิภาพด้อยกว่า โดย Vertical Clutch จะประสานจักรจับเวลาวินาทีเข้ากับจักรวินาทีที่ทำงานอย่างต่อเนื่องในแนวดิ่งโดยใช้แรงสปริงในการ “ปล่อย” คลัตช์แทนการประกบเฟืองเข้าด้วยกันในแนวระนาบ
กลไกรูปแบบนี้มีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อประสิทธิภาพการทำงานและความยาวนานของอายุการใช้งาน Vertical Clutch จะส่งพลังงานโดยตรงจากสปริงลานไปยังกลไกโครโนกราฟและทำให้มั่นใจได้ว่าเข็มจับเวลาจะไม่มีการอยู่ผิดตำแหน่งหรือเกิดการเคลื่อนกระโดดในขณะเริ่มทำการจับเวลา กลไก สปริงไดรฟ์ โครโนกราฟ ของ Grand Seiko ใช้ดีไซน์ Vertical Clutch ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างด้วยลักษณะของ Clutch Spring (คลัตช์ สปริง) ซึ่งเป็นรูปแบบของ Grand Seiko เอง
ความรู้สึกในการสัมผัสปุ่มกดจับเวลาได้รับแรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาจับเวลาที่สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 1960s ปุ่มกดนี้มีลักษณะแบบ “เตรียม-ระวัง-ไป” ซึ่งผู้ใช้สามารถกดปุ่มลงไปครึ่งหนึ่งเพื่อรั้งการจับเวลาไว้ในขณะที่เหตุการณ์ที่จะจับเวลากำลังจะเริ่มต้น จากนั้นจึงกดปุ่มลงไปจนถึงจังหวะคลิกเมื่อเหตุการณ์ที่จะจับเวลาเริ่มต้นขึ้น ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการทำงานของชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ การจับเวลาที่มีความแม่นยำยิ่งขึ้น
ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้งานนาฬิกา Grand Seiko จึงได้สร้างนาฬิกาโครโนกราฟที่มีประสิทธิภาพในด้านการแสดงข้อมูลจำนวนมากได้ในทันทีโดยไม่สูญเสียความสามารถในการอ่านค่าไป
มาตรจับเวลาบนหน้าปัดถูกจัดวางตำแหน่งให้อ่านค่าได้อย่างชัดเจน มาตรจับเวลา 30 นาทีวางตำแหน่งอยู่ที่ราว 2 นาฬิกา มาตรจับเวลา 12 ชั่วโมงอยู่ต่ำลงมาที่ราว 4 นาฬิกา ขณะที่เข็มวินาทีถูกวางตำแหน่งไว้ที่ 9 นาฬิกา ส่วนเข็ม GMT จะทำให้ดูเวลาของเขตเวลาที่สองได้ และมีเข็มแสดงพลังงานสำรองอยู่ใกล้กับตำแหน่ง 7 นาฬิกา แม้จะมีการแสดงข้อมูลต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังคงอ่านค่าบนหน้าปัดได้อย่างง่ายดายด้วยรูปแบบของตำแหน่งการแสดงข้อมูลซึ่งจะดึงดูดสายตาไปยังมาตรจับเวลาแนวดิ่งที่อยู่ทางฝั่งขวาของหน้าปัดในทันที
สเกลหลักวินาทีถูกวางตำแหน่งเยื้องกันไปตามแนวขอบหน้าปัดเพื่อสร้างหน่วยวัดที่อ่านค่าได้ง่ายโดยมีระดับความละเอียดถึง 1/5 วินาที ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยการที่เข็มจับเวลาวินาทีเคลื่อนตัวด้วยการเลื่อนอย่างราบรื่นโดยไม่มีจังหวะขยับ จึงทำให้สามารถจับค่าของเวลาที่ผ่านไปได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นเพราะการเคลื่อนตัวของเข็มจะหยุดลงในทันทีเมื่อปุ่มจับเวลาถูกกด
นาฬิกา สปริงไดรฟ์ GMT โครโนกราฟ ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานมากมายของ Grand Seiko สะท้อนถึงคุณค่าหลักของแบรนด์ อันได้แก่ ความแม่นยำ ความชัดเจน ความทนทาน และความงดงาม ด้วยแรงบันดาลใจจากอดีตแต่ก้าวเท้าข้างหนึ่งอย่างมั่นคงไปสู่อนาคตอยู่เสมอ Grand Seiko จึงเป็นนาฬิกาที่มีความแม่นยำและไม่เหมือนใครอย่างแท้จริง