ในปี 1998 การสร้างสรรค์กลไกจักรกลในตระกูล 9S ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับหน้าประวัติศาสตร์ของ Grand Seiko และในปี 2020 ปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการเปิดตัวนาฬิการุ่นแรกของ Grand Seiko หน้าประวัติศาสตร์ได้รับการบันทึกอีกครั้งด้วยกลไกความถี่สูงรหัส 9SA5 ทั้งในด้านการออกแบบ เทคโนโลยี และฟังก์ชั่นการใช้งาน แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญเช่นเดียวกับกลไก 9S ชุดแรก ระยะเวลา 9 ปีของการพัฒนาและการสร้างสรรค์ให้เป็นจริงนั้น ทีมงานของ Grand Seiko ได้ใช้ทั้งทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมมานานถึง 60 ปี เพื่อทำให้กลไก 9SA5 เป็นกลไกที่ดีที่สุดเท่าที่ Grand Seiko เคยสร้างมา
ฮิซาชิ ฟูจิเอดะ (Hisashi Fujieda) นักออกแบบกลไกจักรกลคาลิเบอร์ 9SA5 ย้อนความหลังถึงช่วงแรกๆ ของโครงการนี้ว่า “เป้าหมายของเราคือการบรรลุถึงความเที่ยงตรงสูงและประสิทธิภาพในการทำงานที่ยาวนานที่สุด และต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับนาฬิกาจักรกล” ฟูจิเอดะอธิบายว่าโครงการที่ใช้เวลาในการทำงานยาวนานถึง 9 ปีนั้นเริ่มต้นด้วยแนวคิดของจุดมุ่งหมายนี้ และนำไปสู่การทำให้กลายเป็นจริง
Fuฟูจิเอดะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการออกแบบสปริงสายใยนาฬิกาแบบใหม่สำหรับกลไก 9S65 และทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่มาจากประสบการณ์การทำงานของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และที่ได้รับจากกลไกรุ่นอื่นๆ ของ Grand Seiko ที่มีชื่อเสียงอย่าง 9S85 และ 9S86
‘ราวๆ ปี 2009 เมื่อเราเริ่มต้นพัฒนากลไก 9S85 เราเริ่มต้องการที่จะไปให้ไกลขึ้น และมีนวัตกรรมที่มากขึ้น’ ฟูจิเอดะกล่าว “อุดมการณ์ในการออกแบบที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและกลไกอย่างต่อเนื่องล้ำหน้าก่อนเวลาที่กลไกเหล่านั้นจะเกิดขึ้น ยังคงอยู่กับเราตั้งแต่ยุคของ ไดอินิ ไซโกชะ (Daini Seikosha) และเราก็มักมองออกไปเพื่อค้นหาส่วนประกอบสำคัญที่จำเป็นสำหรับการสร้างกลไกจักรกลรุ่นใหม่ที่ยึดความเป็นแก่นแท้ของ Grand Seiko” แรงบันดาลใจของฟูจิเอดะมาจากการมองย้อนกลับไปที่ภาพร่างของคาลิเบอร์ 4520 กลไกที่เดินด้วยความถี่ 10 ครั้งต่อวินาที ในกลไกแบบไขลานที่อยู่ในรุ่น 45GS ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในปี 1968 “กลไก 4520 มีชุดเฟืองที่แตกต่างจากรูปแบบกลไกส่วนใหญ่ในช่วงนั้น” ฟูจิเอดะกล่าว ถึงกระนั้น เขาพบว่าผลงานรุ่นก่อนของเขาไม่ได้ลอกเลียนการออกแบบที่เกิดขึ้นก่อนหน้า เมื่อมีการสร้างสรรค์นาฬิกาจักรกลของ Grand Seiko แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในเชิงนวัตกรรม ซึ่งการตระหนักรู้ตรงนี้ได้กระตุ้นให้เขาทำการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณแห่งการบุกเบิก ที่กลายเป็นปรัชญาในการออกแบบของเขา “การได้เห็นภาพวาดเหล่านั้น ทำให้ผมมั่นใจในสิ่งที่ผมรู้สึก มันเป็นแรงผลักดันให้ผมต้องแปลงความคิดไปสู่สิ่งที่ทำได้จริง”
ฟูจิเอดะและสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมพัฒนากลไก
แผนกออกแบบได้ค้นพบวิธีที่พวกเขาจะทำให้ความก้าวหน้ากลายเป็นจริงและใช้งานได้จริงบนคุณสมบัติพื้นฐานของนาฬิกาจักรกล พวกเขาได้วิเคราะห์ในเบื้องต้น แต่ตรวจสอบลงลึกในรายละเอียด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จากปี 2009-2011 พวกเขาได้มุ่งความสนใจไปที่เทคโนโลยีพื้นฐานของกลไกที่มีอยู่ ในช่วงเวลาเดียวกัน ฟูจิเอดะได้เริ่มต้นหลักสูตรการศึกษาค้นคว้าที่เป็นอิสระของเขาเอง และวิเคราะห์นาฬิกาจักรกลทุกแง่มุม ตั้งแต่การออกแบบ โครงสร้างกลไก และการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก รวมถึงเรื่องอื่นๆ “ผมไปไกลกว่าการศึกษาองค์ประกอบการออกแบบที่ใช้งานได้ และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับรายละเอียดปลีกย่อยของชุดกลไก รวมถึงรูปลักษณ์ที่งามประณีต” ฟูจิเอดะกล่าว ในปี 2015 ทีมงานก็พร้อมจะดำเนินโครงการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งเรื่องกลไก ชิ้นส่วนประกอบภายนอกและตัวนาฬิกาในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกระบวนการทำงานที่ครอบคลุมในทุกรายละเอียด “ตั้งแต่ต้นทาง” “เราใช้เวลาค่อนข้างมากในการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐาน เพราะนั่นคือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแสวงหาความสำเร็จตามอุดมคติที่แท้จริง” ความมุ่งมั่นของฟูจิเอดะนำไปสู่การสร้างสรรค์กลไกรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับความพยายามอย่างไม่ย่อท้อของทีมในการสนับสนุนวิสัยทัศน์ของเขา ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการสร้างสรรค์กลไก 9SA5 ขึ้นมา กลไกที่คู่ควรกับโอกาสพิเศษในการฉลองครบรอบ 60 ปีของ Grand Seiko และถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดศักราชใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ของ Grand Seiko ด้วย
กลไก 9SA5 โดดเด่นทั้งด้านพลังงานสำรองที่ยาวนาน (80 ชั่วโมง) และอัตราความเที่ยงตรงระดับสูงที่ +5 ถึง -3 วินาทีต่อวัน ทั้ง 2 นวัตกรรมได้ถูกนำมาใช้เพื่อให้สิ่งที่คาดหวังไว้กลายเป็นจริงขึ้นมา อย่างแรกคือ ชุดจักรปล่อยแรงแบบ Dual Impulse Escapement รุ่นใหม่ จะปรับปรุงประสิทธิภาพของแรงขับเคลื่อนที่จะถูกส่งไปยังจักรกรอก อย่างที่ 2 คือ การใช้ ตลับลานคู่ เพื่อทำให้สปริงสายใยสามารถสำรองพลังงานได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มระดับของพลังงานสำรอง การจับคู่กันของ 2 นวัตกรรมนี้ได้นำไปสู่ความเที่ยงตรงของนาฬิกาที่คงที่ และระดับพลังงานสำรองที่เพิ่มขึ้นอีก 45% จากกลไกความถี่สูงที่มีอยู่ของ Grand Seiko อย่างรุ่น 9S8
ฟูจิเอดะทุ่มเทพลังในการทำงานของเขาให้กับการพัฒนาชุดจักรปล่อยแรงแบบ Dual Impulse Escapement โดยชุดจักรปล่อยแรงนี้จะประกอบไปด้วยจักรปล่อยแรงและ พาลเล็ท ฟอร์ค (Pallet Fork-ชิ้นส่วนที่มีลักษณะคล้ายส้อม) และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของนาฬิกาจักรกล พร้อมกับจักรกรอกซึ่งจะทำหน้าที่ในการควบคุมความเที่ยงตรงของนาฬิกา จักรปล่อยแรงแบบเดิมที่อยู่ในกลไก 9S จะใช้การเคลื่อนไหวระหว่างชุดจักรในระบบ เพื่อส่งสัญญาณจากจักรปล่อยแรงตรงไปที่จักรกรอก ผ่านทางพาลเล็ท ฟอร์ค ในทางกลับกันสำหรับชุดจักรปล่อยแรงแบบ Dual Impulse Escapement ของกลไก 9SA5 จะส่งสัญญาณด้วยวิธีเดิม ไปในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนที่ระหว่างกันของชุดจักร แต่จะข้าม พาลเล็ท ฟอร์ค ซึ่งอยู่ในอีกทิศทางหนึ่งไปเลย เพื่อส่งสัญญาณโดยตรงจากจักรปล่อยแรงไปยังจักรกรอก ดังนั้น ชุดจักรปล่อยแรงแบบ Dual Impulse Escapement จึงสามารถถ่ายทอดพลังงานจากสปริงสายใยไปยังจักรกรอกได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
ย้อนกลับไปในปี 2011 ทีมทำงานได้ใช้ระบบ Micro Electro Mechanical System หรือ MEMS เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการช่วยทำให้นาฬิกามีความเที่ยงตรงสูง โดยใช้ชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักเบาและตัวระบบได้รับการทดสอบและพิสูจน์มาอย่างยาวนาน และควรค่าต่อการใช้งานกับกลไกของ Grand Seiko และถือเป็นความสำเร็จในการใช้ พาลเล็ท ฟอร์ค และจักรปล่อยแรงที่อยู่ในกลไกทุกรุ่นของกลไกตระกูล 9S
อีกครั้งที่ MEMS เป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างสรรค์ของจักรปล่อยแรงของกลไก 9SA5 ทีมงานได้ออกแบบ วิเคราะห์ และทดสอบจักรปล่อยแรงเป็นจำนานมาก โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบในการทดสอบอยู่เสมอ เช่น จำนวนของเฟืองที่อยู่บนจักรปล่อยแรงที่แตกต่างกันในการทดสอบแต่ละครั้ง ในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบว่า โครงสร้างของชุดจักรปล่อยแรงแบบ Dual Impulse Escapement สามารถช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าจักรปล่อยแรงแบบเดิม การออกแบบจักรปล่อยแรงที่มาพร้อมกับฟันเฟืองแบบชั้นเดียว จะช่วยเก็บการเคลื่อนตัวของแรงเฉื่อยให้ต่ำลง ขณะเดียวกันก็สามารถส่งสัญญาณตรงไปที่จักรกรอกได้ แต่ทว่า พาลเล็ท ฟอร์ค ก็ยังต้องมีชิ้นส่วนประกอบที่ยื่นออกมา 2 ชุดเหมือนกับที่ใช้อยู่ในกลไก 9S รุ่นก่อนหน้า “ความเรียบง่ายของการออกแบบครั้งใหม่ทำให้ภาพรวมของกลไกมีน้ำหนักเบาลง ผลก็คือมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นจากกลไก 9S8 ถึง 20%” ฟูจิเอดะกล่าว “ไม่ใช่เรื่องเกินไปเลยที่จะบอกว่าโครงสร้างใหม่คือกุญแจสำคัญของความสำเร็จ ในการเพิ่มพลังงานสำรองให้นานขึ้น ขณะที่กลไกยังเดินด้วยความถี่ 10 ครั้งต่อวินาที”
โดยทั่วไปแล้ว การทำงานด้วยความถี่ที่สูงขึ้นของจักรกรอกนั้น จักรกรอกและ พาลเล็ท ฟอร์ค จะมีน้ำหนักมากกว่า และรูปแบบความคิดแบบเดิมๆ นี้ได้ผูกขาดในการนำมาใช้กับกลไกทั่วไปที่มาพร้อมกับน้ำหนักที่มากขึ้น โดยจักรปล่อยแรงและ พาลเล็ท ฟอร์ค ไม่สามารถทำงานร่วมกับจักรกรอก โดยประสิทธิภาพในการส่งผ่านลดลง และประสิทธิภาพในการส่งกำลังที่ลดลงด้วยเช่นกัน ด้วยการนำเทคโนโลยี MEMS มาใช้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยทำให้เกิดความเที่ยงตรง โดยที่ชุดจักรปล่อยแรงและพาลเล็ท ฟอร์ค ของกลไก 9SA5 มีน้ำหนักเบา ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพสูงและคงการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ตลับลานคู่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่ากำลังที่ต้องการนั้นจะได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนจักรกรอกที่มีขนาดใหญ่ และส่งกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อความเที่ยงตรงที่มีมากกว่าจักรกรอกแบบเดิม ซึ่งมาพร้อมกับการเคลื่อนที่ในระดับสูงของแรงเฉื่อย นอกจากนั้น ทีมยังออกแบบโครงสร้างของเฟืองเกียร์ขับเคลื่อนใหม่ โดยมีจำนวนเฟืองน้อยกว่าเฟืองในแนวเดียวกับที่อยู่ในชุดตลับลาน ตรงนี้ถือว่าช่วยทำให้ประหยัดพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก
ทีมได้ออกแบบอีกชิ้นส่วนของกลไก 9SA5 ใหม่ ซึ่งจะทำหน้าที่สำคัญในการจัดการชิ้นส่วนที่ส่งผลต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกาจักรกลนั่นคือ สปริงสายใยนาฬิกา (Hairspring) ก่อนที่จะมีการเลือกใช้รูปทรงที่เหมาะสม จะต้องมีการวิเคราะห์ในเชิงเทคนิคสำหรับคาดการณ์ในเรื่องความเที่ยงตรง ซึ่งนั่นเท่ากับว่าจะต้องมีการทดสอบกับชิ้นส่วนที่มีรูปทรงที่ถูกเลือกมากกว่า 80,000 ครั้ง ก่อนที่จะมีการตัดสินใจนำมาใช้กับชุดคอยล์แบบโอเวอร์คอยล์ ฟูจิเอดะอธิบายถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ในการวิเคราะห์สำหรับคาดการณ์ความเที่ยงตรงจากการพิจารณาดูที่รูปทรงของสปริงสายใยนาฬิกา “มันเป็นไม่ได้เลยที่จะใช้ทฤษฎีที่มีอยู่กับรูปทรงของสปริงสายใยนาฬิกาที่เป็นอุดมคติของเรา เพื่อใช้คาดการณ์เกี่ยวกับผลกระทบที่แตกต่างเพียงเล็กน้อยอันเป็นผลจากรูปทรงที่ไม่เหมือนกัน เราต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีในการลองผิดลองถูก จนในที่สุดก็สามารถกำหนดแนวทางเชิงเทคนิคการวิเคราะห์แบบใหม่ และจากนั้นการค้นหารูปทรงของสปริงสายใยนาฬิกาที่เป็นอุดมคติของเราก็เริ่มต้นทันที”
ฟูจิเอดะมุ่งมั่นที่จะค้นหาความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบ สำหรับการค้นหารูปทรงที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างความเที่ยงตรงระดับสูงสุดนั้น เขาศึกษาในทุกรูปแบบและรูปทรงของสปริงเพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะการทำงานของสปริงทั้งหมด ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรูปทรงแบบโอเวอร์คอยล์ที่โดดเด่นนี้ในที่สุด จากนั้นความสนใจทั้งหมดก็เบนมาที่จักรกรอก กลไก 9SA5 มาพร้อมกับจักรกรอกอิสระ (Free-Sprung Balance) โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวควบคุมการเดินของนาฬิกา “เมื่อปราศจากตัวควบคุมแล้ว จะช่วยให้ภาพรวมของนาฬิกามีความทนทานมากขึ้น เพราะความเที่ยงตรงของนาฬิกาจะได้รับผลกระทบจากการหล่นหรือมีอะไรมากระแทกน้อยลง” ฟูจิเอดะอธิบาย การถอดตัวควบคุมอาจจะทำให้การปรับจังหวะในการเดินของนาฬิกาเพื่อเปรียบเทียบเวลา (Isochronism) ทำได้ยากขึ้น แต่การวิเคราะห์ของฟูจิเอดะได้เปิดเผยให้เห็นว่าหลักการภายใต้เงื่อนไขที่มีรูปแบบเฉพาะนั้น จังหวะในการทำงานเพื่อเปรียบเทียบเวลาสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ด้วยการหมุนปุ่มที่ยึดอยู่กับสปริงสายใยนาฬิกา “การนำหลักการของโครงสร้างอย่างที่เรานำมาใช้นั้นจะช่วยทำให้สามารถสามารถปรับการเดินของตัวนาฬิกาเพื่อเปรียบเทียบเวลา (Isochronism) ทำได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะไม่มีตัวควบคุมอยู่ในระบบจักรกรอกอิสระ (Free-Sprung Balance) ก็ตาม”
การตัดสินใจใช้ชุดคอยล์แบบโอเวอร์คอยล์และระบบจักรกรอกแบบอิสระ (Free-Sprung Balance) ของ Grand Seiko เป็นการแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่มีต่อการผลิต การประกอบ และการปรับแต่งชิ้นส่วน แต่ทางออกได้ถูกค้นพบอย่างรวดเร็ว โดยทั้งหมดอยู่ในทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่ในทีมงานของ Grand Seiko แต่ละบุคคล วิศวกรได้รับการมอบหมายให้พัฒนาอุปกรณ์พิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดตำแหน่งการทำงานของชิ้นงานรุ่นใหม่ สำหรับวางรูปทรงภายนอกของโครงสร้างตัวสปริงสายใยนาฬิกา และปรับจังหวะของแรงเฉื่อยของจักรกรอก คลังแห่งสรรพาวุธทุกประเภทของเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง ตลอดจนทักษะการประกอบและปรับแต่งของช่างฝีมือของ Grand Seiko ที่อยู่ที่สตูดิโอ ชิสุกุอิชิ ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อพิชิตความท้าทายนี้
แม้ว่ากลไก 9SA5 จะได้รับการยกระดับความสามารถในการใช้งาน แต่ทว่ามันก็บางกว่ากลไก 9S85 รุ่นเดิมถึง 1 มิลลิเมตรหรือ 15% ซึ่งต้องขอขอบคุณนวัตกรรมอย่างชุดตลับลานและจักรวางตัวในระนาบเดียวกัน
กลไกที่บางขึ้นช่วยทำให้ทีมสามารถออกแบบตัวนาฬิกาให้มีความหนาลดลง เพื่อความสบายเมื่อสวมใส่อยู่บนข้อมือ นอกจากนั้นตำแหน่งของเม็ดมะยมบนตัวเรือนก็อยู่ต่ำลง ช่วยทำให้นาฬิกาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเมื่อสวมอยู่บนข้อมือ
“ตำแหน่งที่เปลี่ยนไปของเม็ดมะยมส่งผลโดยตรงต่อความเปลี่ยนแปลงในเรื่องจุดศูนย์ถ่วงของตัวนาฬิกา” ฟูจิเอดะ อธิบาย “การเข้าใกล้จุดศูนย์ถ่วงของข้อมือมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยทำให้เกิดความกระชับบนข้อมือเวลาที่นาฬิกาถูกสวมใส่” ฟูจิเอดะได้วัดความห่างจากส่วนล่างสุดของกลไกไปยังตรงกลางของเม็ดมะยมเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการติดตั้งเม็ดมะยม และพบว่ามันควรจะอยู่ในช่วงระหว่าง 45-50% ของความหนาโดยรวมของตัวนาฬิกา “เราประสบความสำเร็จในการเพิ่มความสบายและสัมผัสที่รัดกระชับข้อมือ ด้วยตำแหน่งของเม็ดมะยมที่อยู่ใกล้กับด้านหลังของตัวเรือนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และตัวนาฬิกามีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลง” ด้วยความเฉลียวฉลาดในครั้งนี้ ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังสัมผัสที่จะได้รับจากเม็ดมะยมเมื่อคุณกำลังหมุนขึ้นลานให้กับกลไก 9SA5 อีกด้วย ซึ่งจะให้สัมผัสที่หนักแน่นและการตอบสนองที่เยี่ยมแบบเดียวกับที่ได้รับจากนาฬิกาไขลาน “เราใช้เทคโนโลยี MEMS เพื่อพัฒนารูปทรงแบบใหม่ของสปริงจักรแบบเคลื่อนที่ได้ซึ่งมาพร้อมกับโครงเฟรม” ฟูจิเอดะกล่าว “เราติดตั้งมันลงไปในระบบขึ้นลานมือเพื่อทำให้กลไกอัตโนมัติให้ความรู้สึกเหมือนกับนาฬิกากลไกไขลานด้วยมือ”
ทีมออกแบบของกลไก 9SA5 ได้ใส่พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาลงไปในระหว่างการทดสอบเพื่อความมั่นใจว่ากลไกจะให้สัมผัสที่สวยงามและพึงพอใจ เช่นเดียวกับที่ได้รับจากการใช้เทคนิคในการผลิตขึ้นสูง การออกแบบสะพานยึดจักมีความสวยเด่นสะดุดตา ตัวเรือนมาพร้อมกับสัดส่วนที่โค้งสวยงามที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูเขาอิวาเตะ และโค้งน้ำของแม่น้ำชิสุกุอิชิที่อยู่ใกล้เคียงกันซึ่งไหลผ่านสตูดิโอชิสุกุอิชิของ Grand Seiko สถานที่ผลิตนาฬิกาเรือนนี้ “ผมเข้ามามีส่วนในการออกแบบตั้งแต่ขั้นตอนการวางคอนเซ็ปต์และทุ่มเทพลังทั้งหมดในการค้นหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการจัดวางแต่ละส่วนอย่างสง่างามและลงตัว” ฟูจิเอดะย้อนความถึงการทำงาน การตัดสินใจใช้สะพานจักรที่มีลักษณะแบนเรียบนั้นจะช่วยลดช่องว่างระหว่างกันของชิ้นส่วนนี้กับโรเตอร์ขึ้นลาน “งานที่ถือว่ามีความท้าทายมากที่สุดคือการปรับส่วนประกอบให้พอดีกับพื้นที่ขนาดเล็กที่กำหนดโดยสะพานจักรรูปแบบแบนเรียบนี่แหละ”
ช่างฝีมือจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการตกแต่งทุกรายละเอียดของกลไก ความใส่ใจในทุกรายละเอียดมีขึ้นตั้งแต่การออกแบบกลไกไปจนถึงขั้นตอนของการตกแต่ง เพื่อสร้างความโดดเด่นและสวยงาม ซึ่งถือเป็นหัวใจของความงดงามตามแบบฉบับของ Grand Seiko ฟูจิเอดะรู้สึกกังวลใจเล็กน้อยเกี่ยวกับความประทับใจโดยรวมที่เกิดขึ้น เมื่อกลไกต้องเปล่งประกายในการเล่นกับแสง การขัดแต่งบนชิ้นส่วนแบบพื้นผิวปัดด้านทำให้การเล่นแสงไม่สามารถส่องประกายได้เต็มที่ ขณะที่ส่วนด้านหน้าและขอบมุมที่อยู่บนสะพานจักรรวมถึงพื้นที่ส่วนที่มีการขันน็อตลงไปนั้น สามารถทำให้เกิดแสงเปล่งประกายระยิบระยับอย่างสวยงามเมื่อมีการส่องกระทบของแสงในมุมต่างๆ และทำให้กลไก 9SA5 สามารถสะท้อนสัมผัสแห่งความสวยงามตามแบบฉบับของญี่ปุ่นได้ตามที่ Grand Seiko ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น การขยายพื้นที่บางส่วนของสะพานจักรให้กว้างขึ้นยังช่วยลดผลกระทบของเงา
โดยจะให้ความลึกในการไล่ระดับของแสงและความมืดพื้นผิวของสะพานจักรที่ได้รับการขัดแต่งด้วยวิธีการไล่ระดับในรูปแบบลูกคลื่นที่จำลองมาจากระลอกคลื่นบนผิวน้ำในแม่น้ำชิสุกุอิชิ และพื้นผิวด้านบนของเฟืองแต่ละตัวจะถูกตกแต่งทีละชิ้นด้วยลวดลายที่ละเอียดอ่อน เพื่อเผยให้เห็นความลึกล้ำของงานฝีมือที่อยู่ในกลไก 9SA5
ฟูจิเอดะและทีมออกแบบของเขาทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอนของการผลิตนาฬิกา ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการผลิต การประกอบ และการปรับแต่งในแต่ละชิ้นส่วน จนกระทั่งนาฬิกาเสร็จสมบูรณ์“นี่คือคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม เป็นคุณค่าแบบเดียวกับที่อยู่บนความสำเร็จของการพัฒนานาฬิกาให้มีความเที่ยงตรงและใช้งานได้ รวมถึงมีความน่าหลงใหลจากความสวยงามที่มีอยู่ในตัวของมัน” จิเอดะกล่าว
“ผมเชื่อว่าคุณค่านั้นถูกถ่ายทอดออกไปนอกขอบเขตของกาลเวลาจากผู้สวมใส่นาฬิกาไปถึงคนอื่นๆ และผมตั้งใจที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องบนเส้นทางแห่งความเชื่ออันแรงกล้า”
กลไก 9SA5 เป็นผลมาจากจิตวิญญาณแห่งการสืบเสาะแสวงหาและการทำงานอย่างจริงจังของฟูจิเอดะและทีมวิศวกรคนอื่นๆ ที่เปี่ยมพรสวรรค์ที่สตูดิโอ ชิสุกุอิชิ ของ Grand Seiko และด้วยนวัตกรรมและงานฝีมือชั้นเยี่ยม กลไกใหม่รุ่นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางข้างหน้าที่ทอดยาวสู่อนาคตของ Grand Seiko ได้เป็นอย่างดี