All Articles
3. 14. 2023
กลไก ไฮ-บีท 36000 ของ Grand Seiko ให้ความแม่นยำสูงขึ้นหรือไม่?
มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันว่า กลไกของ Grand Seiko ที่มีจังหวะการทำงานสูงขึ้น ทำให้ความแม่นยำสูงขึ้นได้อย่างไร

ในทศวรรษที่ 1960s ช่วงเวลาที่ สุวะ ไซโกฉะ (ปัจจุบัน คือ ไซโก เอปสัน คอร์ปอเรชัน) และ ไดนิ ไซโกฉะ (ปัจจุบัน คือ ไซโก วอทช์ คอร์ปอเรชัน) แข่งขันกันในเรื่องความแม่นยำของเวลา พวกเขาพบว่า กลไกที่มีความถี่สูงนั้นทำงานได้ดีกว่าอย่างชัดเจนในแง่ของการรักษาเสถียรภาพของความแม่นยำ และด้วยการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันเหล่านี้ไปใช้ ส่งผลให้ในปี 1968 ทั้ง 2 โรงงานได้นำเสนอนาฬิกา Grand Seiko ที่ใช้กลไก ไฮ-บีท 36000 ซึ่งเป็นความถี่ที่เห็นพ้องกันว่าเหมาะสมต่อการใช้กับนาฬิกาข้อมือเพื่อออกสู่ตลาด

หลังจากใช้เวลาในการพัฒนาไปกว่า 5 ปี คาลิเบอร์ ไฮ-บีท 36000 9S85 ของ Grand Seiko ก็เปิดตัวออกมาในปี 2009

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000s Grand Seiko ได้พยายามที่จะนำการผลิตนาฬิกาความถี่สูงกลับมาสู่แบรนด์ นักออกแบบกลไกนาม ทาเกชิ โทโกโระ ได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ เพราะในครั้งนี้ นอกจากเรื่องของความแม่นยำแล้ว ยังต้องคำนึงถึงระยะเวลาการทำงานของกลไกและความทนทานอีกด้วย

เพราะกลไกที่มีความถี่สูงขึ้นจะต้องใช้พลังงานจากสปริงลานมากขึ้น โทโกโระ และทีมงานของเขาจึงทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อหาหนทางในการรักษาระยะการสำรองพลังงานให้อยู่ในระดับสูงให้ได้ แม้ว่ากลไกจะต้องการพลังงานมากขึ้นก็ตาม สปริง SPRON (สพรอน) แบบพิเศษจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถให้แรงบิดในระดับที่ต้องการได้ MEMS (ไมโคร อิเล็กโตร เมคานิคัล ซิสเตมส์) ถูกนำมาใช้ในการสร้างชิ้นส่วนขนาดเล็กให้มีขนาดที่แม่นยำ โดยมีโครงสร้างเป็นแบบโครงสเกเลตันที่มีลักษณะเฉพาะตัวเพื่อลดน้ำหนักและช่วยให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน นอกจากนี้ ระบบรีเวอร์เซอร์ วีล แบบใหม่ ยังทำให้กลไกการขึ้นลานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งวัสดุและการปรับสภาพพื้นผิวก็ถูกปรับให้เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจในเรื่องความทนทานต่อแรงบิดระดับสูงของสายใยจักรกลอกที่ทำงานด้วยความถี่ 10 บีท เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้ว ทำให้ 9S85 สำรองพลังงานได้ถึง 55 ชั่วโมง ซึ่งยาวนานกว่าระดับ 50 ชั่วโมงของซีรีส์คาลิเบอร์ 9S5 ที่มีความถี่ต่ำกว่าเสียอีก

จักรกลอก จักรเอสเคป และพัลเลท ฟอร์ก ของ Caliber 9S85

แล้วอะไรกันแน่ ที่ทำให้กลไกความถี่สูง หรือ ไฮ-บีท ดีกว่า?

ลองจินตนาการถึงภาพลูกข่าง 2 ลูกกำลังหมุนอยู่บนโต๊ะ โดยที่ลูกหนึ่งหมุนด้วยความเร็วสูงกว่าอีกลูกหนึ่ง หากโต๊ะถูกกระแทก ลูกข่างทั้งสองก็จะได้รับผลกระทบ แต่เป็นผลกระทบในระดับที่ไม่เท่ากัน ลูกข่างที่หมุนช้ากว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดการสะดุดและโคลงเคลงมากกว่า ในขณะที่ลูกข่างที่หมุนเร็วกว่า มีแนวโน้มที่จะดูดซับแรงกระแทกโดยไม่เกิดการเบี่ยงเบนได้มากกว่า หลักการพื้นฐานเดียวกันนี้ ถูกนำมาใช้กับการกลอกจักรด้วยความถี่สูง

ในช่วงเวลาของวัน นาฬิกาจะถูกรบกวนโดยการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของผู้สวมใส่ การรบกวนเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง การกระทบกับพื้นผิวที่แข็งโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากการปรบมือรัว ๆ ในขณะกำลังเชียร์เด็ก ๆ แข่งฟุตบอล ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใด การกลอกจักรด้วยความถี่การแกว่งที่สูงกว่าดังเช่นลูกข่างที่กล่าวถึง จะสามารถต้านทานแรงจากภายนอกเหล่านี้ได้ดีกว่า จึงมั่นใจได้ถึงความเสถียรโดยรวมในด้านความแม่นยำที่เหนือกว่า

เอสเคปเมนท์แบบ ดูอัล อิมพัลซ์ ของคาลิเบอร์ 9SA5

การปรับปรุงโครงสร้างเหล่านี้ สนับสนุนพันธกิจของ Grand Seiko ในการสร้างนาฬิกาเพื่อการใช้งานในอุดมคติ ผลที่ตามมาซึ่งเป็นเรื่องที่ควรแก่การเน้นย้ำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การพัฒนาเหล่านี้ถูกกระทำขึ้นเพื่อให้กลไก ไฮ-บีท ของ Grand Seiko เกิดขึ้นได้ ทั้งยังถูกนำไปใช้กับคาลิเบอร์ของ Grand Seiko ที่มีความถี่ต่ำกว่า (28,800 ครั้งต่อชั่วโมง) อีกด้วย นั่นก็คือ 9S65 ที่เปิดตัวในปี 2010 ที่ซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพได้ช่วยเพิ่มระยะเวลาการทำงานให้ยาวนานขึ้นเป็น 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ ความรู้ทางเทคนิคมากมายที่ได้มาจากเรื่องที่เกี่ยวกับการผลิต MEMS และการผลิตนาฬิกา 10 บีท ก็ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนา 9SA5 กลไก ไฮ-บีท 36000 เจเนอเรชันต่อไป คาลิเบอร์ล่าสุดของ Grand Seiko ที่เปิดตัวในปี 2020 อีกด้วย

อ่านต่อ