บันทึกสำคัญ

เคารพเรื่องราวในอดีตและโอบรับอนาคตในวันข้างหน้า

Grand Seiko ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ.1960 ด้วยความตระหนักถึงพันธกิจของ
Kintaro Hattori (คินทาโร ฮัทโทริ) ผู้ก่อตั้ง Seiko ในการสร้าง “นาฬิกาในอุดมคติ” ซึ่งหมายถึงเรือนเวลาที่ผสานรวมความแม่นยำ ความชัดเจน ความทนทาน และความงดงามเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ณ ปัจจุบัน เจตนารมณ์นี้ยังคงเป็นแรงผลักดันให้เหล่าวิศวกรและนักออกแบบของ Grand Seiko ดำเนินการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อมุ่งสู่อนาคตข้างหน้าโดยไม่เคยลืมเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา

บันทึกสำคัญแห่ง Grand Seiko คือ ส่วนสำคัญใน GS9 Club โดยจะมีการปรับปรุงข้อมูลอยู่เสมอเพื่อธำรงรักษาและแบ่งปันประวัติศาสตร์ของ Grand Seiko ให้คงอยู่สืบไปโดยจะจำแนกอย่างชัดเจนตามคาลิเบอร์ และเราจะเพิ่มเติมข้อมูลของรุ่นต่าง ๆ ทั้งในอดีต
และปัจจุบันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ต้นกำเนิดจิตวิญญาณแห่ง Grand Seiko
Seikosha

ภารกิจในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศของ Seiko และครอบครัว Hattori (ฮัทโทริ) คือ การใฝ่หาวิธีการสร้างนาฬิกาในอุดมคติ สิ่งนี้เองที่นำไปสู่การถือกำเนิดของ Grand Seiko

Kintaro Hattori (คินทาโร ฮัทโทริ) ก่อตั้ง K.Hattori & Co. (เค ฮัทโทริ แอนด์ โค) ขึ้นมาใน ค.ศ.1881 และกลายเป็นที่รู้จักกันในนาม Seiko ในเวลาต่อมา ชื่อ Seiko มาจาก Seikosha (ไซโกฉะ) อันเป็นโรงงานแห่งแรกที่ Hattori เปิดดำเนินการใน ค.ศ.1892 คำว่า Seikosha ประสมมาจากศัพท์ 3 คำในภาษาญี่ปุ่น คือ Sei 精 ที่หมายถึงประณีตหรือละเอียดอ่อน Ko 工 ที่หมายถึงการผลิตหรือวิศวกรรม และ Sha 舎 ที่หมายถึงบ้านหรือกระท่อม นอกจากนี้คำว่า Seiko ยังหมายความถึง 精巧 ที่แปลว่าละเอียดซับซ้อน และเมื่อใช้ตัวอักษรคันจิที่ต่างออกไปจะหมายความถึงความสำเร็จ 成功 ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย

ใน ค.ศ.1937 Daini Seikosha (ไดนิ แปลว่า ที่สอง) ถูกก่อตั้งขึ้นที่เมือง Kameido (คาเมโดะ) ในกรุงโตเกียว แหล่งผลิตแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาข้อมือ ขณะที่โรงงาน Seikosha แห่งเดิมนั้นเชี่ยวชาญในด้านนาฬิกาคล็อกและนาฬิกาพก ใน ค.ศ.1944 Daini Seikosha เปิด “โรงงาน Suwa (ซูวะ)” ขึ้นในภาคกลางของญี่ปุ่นในฐานะส่วนขยายของ Daini Seikosha เพื่อย้ายแหล่งผลิตออกจากกรุงโตเกียวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

Daiwa Kogyo (ไดวา โคเกียว) โรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของญี่ปุ่นผู้มีธุรกิจรับผลิตชิ้นส่วนให้กับ Daini Seikosha ได้ควบรวมกิจการเข้ากับโรงงาน Daini Seikosha Suwa ใน ค.ศ.1959 กลายเป็น Suwa Seikosha (ซูวะ ไซโกฉะ) และแยกบริษัทออกจาก Daini Seikosha การแข่งขันอย่างเป็นมิตรระหว่าง Daini และ Suwa Seikosha จึงเริ่มต้นขึ้น การแข่งขันเช่นนี้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาเพราะโรงงานแต่ละแห่งต่างมีความมุ่งมั่นในการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูงกว่าอีกแห่งหนึ่งอยู่เสมอ

Daini Seikosha ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม Morioka Seiko Instruments (โมริโอกะ ไซโก อินสทรูเมนต์ส) และตั้งอยู่ในจังหวัด Iwate (อิวาเตะ) ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นได้ทำการเปิด Grand Seiko Studio Shizukuishi (แกรนด์ ไซโก สตูดิโอ ชิสุกุอิชิ) ขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2020 เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดแห่งใหม่ของเรือนเวลา Grand Seiko ระบบจักรกล 9S แบบสมัยใหม่ทุกรุ่นทุกแบบ

ส่วน Suwa Seikosha ในปัจจุบันก็คือ Seiko Epson (ไซโก เอปสัน) โดยยังคงตั้งอยู่ในจังหวะ Nagano (นากาโนะ) ทางตอนกลางของญี่ปุ่น โดยมี Shinshu Watch Studio (ชินชู วอทช์ สตูดิโอ) ทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดให้กับเครื่อง Spring Drive (สปริง ไดรฟ์) ตระกูล 9R และเครื่องควอตซ์ตระกูล 9F

ภารกิจเพื่อ “นาฬิกาในอุดมคติ”
1956-1959

Marvel, Lord Marvel and Crown

ใน ค.ศ.1956 ทีมงาน Suwa Seikosha ได้ทำการเปิดตัว Marvel (มาร์เวล) ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นพื้นฐานของการสร้างนาฬิกา นั่นก็คือ ความแม่นยำ ความทนทาน และความงดงาม Marvel จึงเป็นผลผลิตเชิงเทคนิคที่สำคัญของ Seiko เพราะเป็นนาฬิกาแบบแรกของบริษัทที่ออกแบบและผลิตขึ้นเองภายในบริษัท ทั้งยังใช้สายสปริงลานและสายใยจักรกลอกของ Seiko เองอีกด้วย เพื่อตอบโต้กับ Marvel ทาง Daini Seikosha จึงได้เปิดตัวรุ่น Chronos (โครโนส) มาเป็นคู่แข่งด้วยขนาดตัวเรือนที่บางกว่าและมีคุณสมบัติเชิงประสิทธิภาพที่สูงกว่า อีก 2 ปีถัดมา คือ ใน ค.ศ.1958 Suwa จึงนำเสนอ Lord Marvel (ลอร์ด มาร์เวล) ออกมาด้วยลักษณะนาฬิกาที่ออกแบบให้อ่านค่าได้ง่ายโดยใช้หลักชั่วโมงกับเข็มขนาดใหญ่ ทั้งยังได้เห็นการปรับปรุงอย่างชัดเจนในด้านความต้านทานต่อแรงสะเทือนอีกด้วย ต่อมาใน ค.ศ.1959 Suwa ก็เปิดตัว Crown (คราวน์) นาฬิกาเดรสหรูซึ่งมีพื้นฐานมาจาก Marvel แต่มีความก้าวหน้าทางเทคนิคอย่างลึกซึ้งด้วยเครื่อง คาลิเบอร์ 560 ที่ติดตั้งอยู่ภายในซึ่งใช้วงจักรกลอกขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อปรับปรุงความสม่ำเสมอของแรงเหวี่ยง ใช้ตลับลานขนาดใหญ่ขึ้นและทำให้มีแรงบิดมากขึ้น และปรับปรุงระบบซับแรงสะเทือน Diashock (ไดอะช็อค) ให้ต้านทานแรงสะเทือนได้มากขึ้น

ด้วยคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมที่กล่าวมา Marvel Lord Marvel และ Crown จึงเป็นนาฬิกาที่มีความสำคัญของ Seiko และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ นาฬิกา 3 รุ่นนี้ได้วางรากฐานสำคัญให้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน ค.ศ.1960 อันเป็นศักราชที่ทางบริษัททำการเปิดตัวเรือนเวลาที่ถึงพร้อมทั้งความงดงามและคุณสมบัติทางเทคนิค

ภารกิจเพื่อ “นาฬิกาในอุดมคติ”
1956-1959
สารตั้งต้นสู่ Grand Seiko
1956
Marvel
ด้วยการผสมผสานแนวคิดการดีไซน์แบบใหม่เข้ากับเทคนิคการผลิตแบบใหม่ ทำให้ Marvel เป็นนาฬิกา Seiko ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ณ ขณะนั้น
รายละเอียดทั้งหมด
1958
Lord Marvel
Lord Marvel มีระดับความแม่นยำสูงขึ้นกว่าที่เคย และนำพาความชัดเจนในการอ่านค่าและคุณภาพขึ้นสู่ระดับใหม่
รายละเอียดทั้งหมด
1959
Crown
ซีรี่ส์ Crown โดดเด่นด้วยการใช้เครื่องขนาดใหญ่ที่ถูกพัฒนาให้มีความแม่นยำมากขึ้น
รายละเอียดทั้งหมด
GS รุ่นแรก
1960-1964

Grand Seiko รุ่นแรก

“ราชาแห่งเรือนเวลา”

คณะทำงานผู้ขับเคลื่อนโครงการ Grand Seiko นำทุกสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้มาตลอดช่วงทศวรรษที่ 50s มาใช้ประโยชน์ในการสร้างนาฬิกาที่มีการบำรุงรักษาต่ำ สวมใส่ง่าย อ่านค่าง่าย และมีความงดงามอย่างเหลือเชื่อ เป็นคุณสมบัติที่พวกเขามุ่งเน้น

Grand Seiko รุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาใน ค.ศ.1960 ถือเป็นอีกการก้าวกระโดดของความก้าวหน้าทางเทคนิคครั้งสำคัญ เครื่องคาลิเบอร์ใหม่ 3180 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานคาลิเบอร์ 560 ของรุ่น Crown ที่เปิดตัวเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า โดย 3180 นั้นมาพร้อมคุณสมบัติเด่นมากมาย เช่น ระบบ Diashock (ไดอะช็อค) แบบล่าสุด ระบบหยุดการทำงานของเข็มวินาทีเมื่อต้องการตั้งเวลา ตัวควบคุมการทำงานที่ปรับตั้งได้อย่างละเอียด และชิ้นทับทิมที่รูตลับลาน ส่วนอัตราความแม่นยำก็ปรับตั้งมาอย่างน่าประทับใจที่ +12 ถึง -3 วินาทีต่อวัน และมอบการสำรองพลังงานได้นานถึง 45 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเป็นนาฬิกาผลิตในประเทศญี่ปุ่นรุ่นแรกที่มีระดับความแม่นยำสอดคล้องกับมาตรฐานของ Bureaux Officiels de Contrôle de la Marche des Montres (บูโฮ ออฟฟิเชียล เดอ คนโทล เดอ ลา มัคเชอ เด มงเธอะ) ในเจนีวา ซึ่งเป็นสถาบันทดสอบความแม่นยำระดับโครโนมิเตอร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนั้น

การออกแบบอันชาญฉลาดของ Grand Seiko รุ่นแรกได้กำหนดมาตรฐานสำคัญขึ้นมาหลายประการด้วยกันซึ่งหลายมาตรฐานก็ยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ตราสัญลักษณ์ Grand Seiko ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกาถูกประกอบเป็นคำด้วยฟอนต์อักษรแบบโกธิก ฟอนต์สไตล์คลาสสิกที่เลือกใช้เพื่อแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งการผลิตนาฬิกาจักรกล ส่วนชิ้นหลักชั่วโมงตัดเจียรแบบเหลี่ยมเพชรอันงดงามที่ติดตั้งอยู่บนหน้าปัดและเข็มที่มีขนาดกว้างนั้น ปัจจุบันได้ถูกบัญญัติเป็นคุณลักษณะประจำตัวของเรือนเวลา Grand Seiko และเป็นสิ่งที่ทำให้บรรลุเจตนารมณ์ในแง่ความชัดเจนในการอ่านค่าและความงดงามที่อยู่เหนือกาลเวลา ด้านหลังของตัวเรือนใช้ฝาหลังชนิดแผ่นทึบที่ปรากฏตราสิงโตแห่ง Grand Seiko อันเป็นสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ที่ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้และสะท้อนถึงความปรารถนาของคณะผู้พัฒนา Grand Seiko ในการสร้าง “ราชาแห่งเรือนเวลา” ที่ถึงพร้อมทั้งความแม่นยำ ความทนทาน และความงดงามในระดับแถวหน้า

GS รุ่นแรก
1960-1964
หลากหลายรูปแบบของรุ่นแรก
Grand Seiko First J14070 Caliber 3180
1960
Grand Seiko รุ่นแรกที่ใช้ตราสัญลักษณ์แบบลายนูน
รุ่นแรกของ Grand Seiko ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น “นาฬิกาในอุดมคติ” ที่มีระดับความแม่นยำ ความชัดเจน และความงดงามในระดับสูงสุด
รายละเอียดทั้งหมด
1960
Grand Seiko รุ่นแรกที่ใช้ตราสัญลักษณ์แบบสลัก
ในช่วงแรก ๆ ของการสร้าง Grand Seiko รุ่นแรกนั้น มีเรือนที่ใช้หน้าปัดแบบสลักตราสัญลักษณ์ด้วย โดยเป็นการแกะลายลงบนผิวหน้าปัด
รายละเอียดทั้งหมด
ต้นทศวรรษที่ 1960s
Grand Seiko รุ่นแรกในตัวเรือนแพลทินัม
ครั้งแรกที่ Grand Seiko นำแพลทินัมมาสร้างตัวเรือน โดยถูกผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัดในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960s
รายละเอียดทั้งหมด
GS "Self-Dater"
1964-1967

The Grand Seiko Self‑Dater

วิวัฒนาการเพื่อการใช้งาน

ความสำเร็จและความโด่งดังของ Grand Seiko รุ่นแรก คือ แรงสนับสนุนให้คณะนักออกแบบแสวงหาความก้าวหน้าขั้นต่อไปในการสร้าง “นาฬิกาในอุดมคติ” ขึ้นมา และก็เป็นอีกครั้งที่การใช้งานถูกนำมาเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์ 4 ปีต่อมาหลังจากให้กำเนิด Grand Seiko รุ่นแรก นาฬิกา Self-Dater (เซลฟ์ เดเทอร์) ก็ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ.1964 โดยมากับคาลิเบอร์ 5722A ที่มอบฟังก์ชั่นตั้งค่าวันที่อย่างรวดเร็วมาให้ผู้ใช้สามารถปรับตั้งวันที่ได้โดยไม่ต้องปรับเลื่อนเข็มเวลาไปข้างหน้า นอกจากนี้ยังออกแบบตัวเรือนขึ้นใหม่โดยใช้สแตนเลสสตีลเป็นวัสดุ และสามารถกันน้ำได้ดียิ่งขึ้นด้วยระดับความลึก 50 เมตร ทั้งหมดนี้ทำให้ Self-Dater เป็นนาฬิกาที่เหมาะกับการสวมใส่ใช้งานในทุก ๆ วันมากกว่ารุ่นก่อน รูปทรงของชิ้นหลักชั่วโมงและเข็มอันเป็นเอกลักษณ์ยังคงอยู่เช่นเดิมแต่ถูกขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มความชัดเจนในการดูเวลา

อีกปัจจัยที่ทำให้ Self-Dater เป็นนาฬิกาที่มีความพิเศษยิ่งและควรค่าแก่การถูกบันทึกเป็นเรือนเด่นในประวัติศาสตร์ Grand Seiko ก็คือ การเป็นเรือนเวลารุ่นแรกของ Grand Seiko ที่มีการขัดเงาแบบ “Zaratsu” (ซารัตสึ)

อะไรคือ Zaratsu

“Zaratsu” เป็นชื่อเรียกขานที่มาจากชื่อของโรงงานที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรแบบดั้งเดิมซึ่งนำมาใช้ขัดเงาตัวเรือนของรุ่น Self-Dater วิธีการขัดเงาแบบ Zaratsu ก็คือ การขัดเงาชิ้นส่วนโลหะของนาฬิกาด้วยการกดชิ้นส่วนลงบนผ้าทรายหรือกระดาษทรายที่ติดตั้งอยู่บนด้านข้างของจานโลหะหมุนได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยากลำบากจึงต้องใช้ความอุตสาหะและใช้ทักษะที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการฝึกฝน แต่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ายิ่งนัก ช่างฝีมือของ Grand Seiko สามารถสร้างพื้นผิวเรียบที่ปราศจากการบิดเบือนของภาพสะท้อน และทำให้มีแนวขอบที่คมชัดอย่างยิ่ง ณ บริเวณที่แนวราบทั้ง 2 มาบรรจบกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้นาฬิกา Grand Seiko มีรูปลักษณ์เป็นนาฬิการะดับสูงที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และจนถึงทุกวันนี้ ตัวเรือนของ Grand Seiko ทุกรุ่นทุกแบบก็ยังคงถูกขัดเงาแบบ Zaratsu

GS "Self-Dater"
1964-1967
นาฬิกาในยุคนี้
1964
Self-Dater 430
เจเนอเรชั่นแรกของนาฬิกา Grand Seiko รุ่นที่สอง เพิ่มฟังก์ชั่นปฏิทินเข้ามาและเพิ่มระดับการกันน้ำให้สูงขึ้น
รายละเอียดทั้งหมด
1964
Self-Dater 5722A
หลังจากเปิดตัวรุ่น Self-Dater ที่ใช้คาลิเบอร์ 430 ออกมาได้ไม่นาน รุ่นที่ใช้คาลิเบอร์ 5722A ก็ถูกเปิดตัวตามออกมา
รายละเอียดทั้งหมด
1966
Self-Dater 5722B
ใน ค.ศ.1966 รุ่น Self-Dater ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มระดับความถี่การทำงานให้สูงขึ้น อันเป็นการตั้งมาตรฐานความแม่นยำใหม่ขึ้นมา
รายละเอียดทั้งหมด
62GS
1967-1968

ก้าวสู่เครื่องอัตโนมัติด้วย 62GS

Grand Seiko เครื่องอัตโนมัติรุ่นแรก

การก้าวกระโดดครั้งสำคัญจากเครื่องขึ้นลานด้วยมือไปสู่เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ 62GS คือ การเป็นนาฬิการะบบอัตโนมัติรุ่นแรกของ Grand Seiko โดยมีออกมา 2 แบบ คือ เวอร์ชั่นบอกวันที่ ขับเคลื่อนด้วยคาลิเบอร์ 6245A และเวอร์ชั่นบอกวันและวันที่ ขับเคลื่อนด้วยคาลิเบอร์ 6246A สปริงลานที่มีแรงบิดสูงขึ้นและชุดแกว่งถ่วงน้ำหนักที่เพิ่มเข้ามาทำให้ตัวเรือนของ 62GS มีขนาดหนากว่านาฬิกา Grand Seiko รุ่นก่อน ๆ แต่คณะนักออกแบบเห็นว่าพวกเขาสามารถลดความรู้สึกในแง่ความหนาของกลไกได้จากลักษณะการออกแบบตัวเรือน กระจกทรงกล่องถูกยึดเข้ากับตัวเรือนชิ้นกลางโดยตรงโดยไม่ต้องมีวงขอบตัวเรือนเพื่อไม่ให้ตัวเรือนดูหนาเกินไป ทั้งยังออกแบบแนวตัวเรือนส่วนริมให้ลาดเอียงลงไปเพื่อให้ตัวเรือนดูบางลง และพื้นผิวด้านบนของตัวเรือนยังออกแบบให้แคบลงเพื่อให้ดูต่อเนื่องกับส่วนขาด้วยพื้นที่ที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อลดน้ำหนักในขณะที่ยังคงลักษณะการออกแบบที่มีแนวเหลี่ยมมุมอย่างชัดเจนเอาไว้เช่นเดิม

ยุคปัจจุบัน

ปัจจุบัน ดีไซน์ของ 62GS ซึ่งถูกนำมาตีความใหม่ในรูปแบบที่ทันสมัย เป็นจุดเด่นสำคัญของเรือนเวลา Grand Seiko ในคอลเลกชั่น Japan Seasons (แจแปน ซีซันส์ – ฤดูกาลของญี่ปุ่น) ที่สร้างขึ้นสำหรับตลาดสหรัฐฯ โดยยังคงรักษาหลายองค์ประกอบการออกแบบที่ทำให้รุ่นต้นฉบับเป็นนาฬิกาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีคุณค่าเอาไว้เช่นเดิม

62GS
1967-1968
นาฬิกาในยุคนี้
1967
62GS Calendar
62GAC นาฬิกา Grand Seiko เครื่องอัตโนมัติรุ่นแรก เวอร์ชั่น Calendar (กาเลนดาร์) บอกวันที่ คือ วิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องเพื่อการใช้งาน
รายละเอียดทั้งหมด
1967
62GS Week-Dater
62GAW นาฬิกา Grand Seiko เครื่องอัตโนมัติรุ่นแรก เวอร์ชั่น Week-Dater (วีก-เดเทอร์) บอกวันและวันที่
รายละเอียดทั้งหมด
44GS
1967-1968

Grand Seiko Style และ 44GS

การกำหนดมาตรฐาน “หลักการออกแบบ” ของ Grand Seiko

เดิมทีนั้น Suwa Seikosha (ซูวะ ไซโกฉะ) เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างนาฬิกา Grand Seiko ทั้งหมดก่อนที่ทาง Daini Seikosha (ไดนิ ไซโกฉะ) จะทำการผลิต Grand Seiko รุ่นแรกของตนออกมาใน ค.ศ.1967 ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ผู้สร้างในตอนนั้นอาจไม่ได้คิดเลยว่า จะเป็นนาฬิกาที่ส่งผลสืบเนื่องต่อ Grand Seiko เป็นการถาวร

แม้บรรลุความเป็นเลิศทางด้านความแม่นยำแล้ว แต่การมุ่งเน้นที่ความแม่นยำของเครื่องเป็นหลักยังไม่ได้สร้างเอกลักษณ์ที่แท้จริงของนาฬิกาในแง่ของการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกขึ้นมา หัวหน้านักออกแบบของบริษัทฯ จึงใช้เวลาหลายชั่วโมงที่ร้าน Wako (วาโก) ในย่านกินซาเพื่อเฝ้าสังเกตบรรดาลูกค้าที่เข้ามาซื้อนาฬิกาเพื่อดูว่าพวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความหลากหลายของแบรนด์และรูปแบบดีไซน์ของนาฬิกาที่มีจำหน่ายอยู่ในร้าน ข้อสรุปของเขาก็คือ หาก Grand Seiko อยากที่จะโดดเด่นเหนือแบรนด์อื่น ๆ นาฬิกาจะต้องดูมีอะไรมากกว่าเดิม ซึ่งคำกล่าวของเขาก็คือ ควรจะมี “ประกายแห่งคุณภาพ”

สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ภาพขาวดำของพวกเขามักไม่ค่อยแสดงออกถึงความสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งแต่เป็นการไล่เฉดสีระหว่างแสงและเงา และให้คุณค่าที่สูงส่งกับความกลมกลืนระหว่าง 2 สิ่งนี้ เพื่อที่จะผสานเรือนเวลา Grand Seiko เข้ากับความรู้สึกถึงสิ่งสวยงามของชาวญี่ปุ่นอย่างชัดเจนด้วยการแสดงของแสงและเงา นักออกแบบของ Grand Seiko จึงมุ่งเน้นในการนำเส้นตรงและพื้นผิวเรียบมารวมกันเป็นโครงสร้างของนาฬิกา

แนวทางเช่นนี้กลั่นออกมาเป็นดีไซน์แบบ Grand Seiko Style (แกรนด์ ไซโก สไตล์) ที่ประกอบด้วยหลักการ 3 ประการด้วยกัน คือ

หลักการที่ 1: ควรมีพื้นผิวที่เรียบในทุกพื้นที่ที่เป็นไปได้

การออกแบบนาฬิกานั้นจำเป็นต้องใช้ทั้งพื้นผิวเรียบและพื้นผิวโค้ง แต่สำหรับ Grand Seiko นั้น จะใช้พื้นผิวเรียบเป็นหลัก เพราะพื้นผิวเรียบจะเกิดการสะท้อนแสงได้มากกว่าและการใช้ผิวเรียบให้มากที่สุดจะทำให้เกิดประกายแห่งคุณภาพตามเป้าประสงค์ของ Grand Seiko

หลักการที่ 2: พื้นผิวเรียบควรมีขนาดพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เพื่อเพิ่มการสะท้อนให้มากที่สุด พื้นผิวเรียบควรมีขนาดพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้บนทุก ๆ ส่วนของตัวเรือนตลอดจนหน้าปัดและเข็ม

หลักการที่ 3: ทุกพื้นผิวควรปราศจากการบิดเบือนของภาพสะท้อน

บนทุกพื้นที่ที่เป็นไปได้ ทุกพื้นผิวและทุกเหลี่ยมมุมควรถูกขัดผิวให้มีลักษณะดุจกระจกเงาและควรขัดเงาจนกระทั่งไม่เกิดการบิดเบือนของภาพสะท้อน

จากพื้นฐานของหลักการ 3 ข้อนี้ ดีไซน์สำหรับ 9 องค์ประกอบจึงถูกกำหนดเป็นสาระสำคัญในรายละเอียดของนาฬิกา Grand Seiko

ใน ค.ศ.1967 Grand Seiko ได้นำเสนอนาฬิกา 44GS ที่มากับดีไซน์แบบ Grand Seiko Style (แกรนด์ ไซโก สไตล์) ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อแบรนด์ไปตลอดกาล รูปร่างของตัวเรือนเป็นลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พื้นผิวเรียบทางด้านหน้าถูกขัดเงาแบบ Zaratsu (ซารัตสึ) เพื่อให้เกิดความเงางามที่ไร้การบิดเบือนของภาพสะท้อน ด้านข้างของตัวเรือนเอียงเข้าด้านในอย่างเฉียบคมซึ่งช่วยให้สวมใส่กับข้อมือได้พอดีตามหลักสรีรศาสตร์ เม็ดมะยมตำแหน่ง 3 นาฬิกาที่ฝังลึกเข้าไปในตัวเรือนเพื่อรักษาความสวยงามของแนวสันด้านข้างของตัวเรือน หลักชั่วโมงบนหน้าปัดและเข็มเจียรเหลี่ยมมุมอย่างงดงามเพื่อให้เล่นกับแสงที่ตกกระทบได้อย่างเต็มที่ สอดคล้องกับประกายแสงที่สะท้อนจากผิวดุจกระจกเงาของวงขอบตัวเรือน ผลลัพธ์โดยรวมก็คือ นาฬิกาที่สะกดสายตาได้ในทันทีที่พบเห็นและมีลักษณะที่เรียกว่า “ประกายแห่งคุณภาพ” อย่างแท้จริง

Grand Seiko Style ถูกพัฒนาขึ้นภายหลังการถือกำเนิดของเรือนเวลา Grand Seiko รุ่นแรก 7 ปี และยังคงเป็นแนวทางสำคัญสำหรับบริษัทมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้มงวดจนปรับเปลี่ยนไม่ได้ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เหล่านี้อย่างละเมียดละไม หัวใจสำคัญของวิถีทางในการปรับเปลี่ยนก็คือ รูปแบบ Grand Seiko Style จะต้องถูกธำรงรักษาไว้และมีการปรับปรุงอย่างเหมาะสมตามกาลเวลาที่ล่วงผ่าน

ด้วยคุณลักษณะที่กล่าวมาจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมการตีความใหม่ให้กับดีไซน์ของ 44GS จึงกลายเป็นแกนหลักของคอลเลกชั่นนาฬิกา Grand Seiko ณ ปัจจุบัน การคงไว้ซึ่ง DNA ของหลักการดีไซน์โดยส่วนใหญ่ทำให้การตีความแบบสมัยใหม่ของ 44GS ประสบความสำเร็จอย่างสูง ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นว่า นาฬิกาที่ผสมผสานดีไซน์แบบ Grand Seiko Style นั้นมีรูปลักษณ์ที่อยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง

44GS
1967-1968
นาฬิกาในยุคนี้
1967
44GS
Grand Seiko รุ่นแรกจาก Daini Seikosha (ไดนิ ไซโกฉะ) มากับรูปแบบที่จะมีอิทธิพลต่อ Grand Seiko ไปตลอดกาล
รายละเอียดทั้งหมด
61GS
1968-1975

นาฬิกา GS เครื่องอัตโนมัติ 10 บีท รุ่นแรก

เครื่อง Hi-Beat 36000 ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ

61GS ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Suwa Seikosha (ซูวะ ไซโกฉะ) ใน ค.ศ.1968 นั้นเป็นนาฬิการุ่นแรกของญี่ปุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องอัตโนมัติซึ่งทำงานด้วยความถี่สูงถึง 10 บีท โดยเครื่องที่ใช้ก็คือ คาลิเบอร์ 6145 นาฬิกา 61GS รุ่นนี้ออกแบบขึ้นโดยมุ่งความสำคัญไปที่การใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการขึ้นลานของโรเตอร์ Grand Seiko ได้นำ “Magic Lever” (เมจิก เลเวอร์) กลไกขึ้นลานแบบ 2 ทิศทางที่มีประสิทธิภาพสูงอันเป็นรูปแบบการขึ้นลานด้วยลิ้นสปริงที่ Seiko พัฒนาขึ้นเมื่อ ค.ศ.1959 มาใช้ และมีการนำความก้าวหน้าทางเทคนิคอีกหลายอย่างมาปรับปรุงประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการทำงานด้วย 61GS จึงกลายเป็นที่รู้จักกันในฐานะหนึ่งในนาฬิกาที่ดีที่สุดเท่าที่ Grand Seiko เคยผลิตขึ้นมา ทั้งยังได้รับเลือกให้ร่วมจัดแสดงในงานไทม์ แคปซูล เอ็กซ์โป ซึ่งจัดขึ้นที่โอซาก้า เมื่อ ค.ศ.1970 และเป็นหนึ่งในสมบัติที่ถูกฝังไว้ที่อดีตปราสาทของโอซาก้าใน ค.ศ.1971 โดยมีกำหนดจะเปิดกรุขึ้นมาในงาน โอซากา เอ็กซ์โป ที่จะจัดขึ้นในอีก 5,000 ปีให้หลัง นั่นก็คือ ค.ศ.6970

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1969 Grand Seiko ได้ทำการเปิดตัวรุ่น 61GS V.F.A. ผลงานเรือนเวลาชิ้นสำคัญของ Suwa Seikosha ซึ่งมากับเครื่องอัตโนมัติ ความถี่ 10 บีท คาลิเบอร์ 6185 อันเป็นกลไกระดับ V.F.A. คาลิเบอร์แรก เครื่องคาลิเบอร์นี้มีมาตรฐานความแม่นยำสูงจนเหลือเชื่อถึง ±1 วินาทีต่อเดือน เกณฑ์มาตรฐานความแม่นยำใหม่นี้ถูกให้ชื่อว่า “Grand Seiko V.F.A. Standard” (แกรนด์ ไซโก วีเอฟเอ สแตนดาร์ด) อักษร V.F.A. นี้ย่อมาจาก Very Fine Adjusted (เวรี ไฟน์ แอดจัสเต็ด) ซึ่งหมายถึงการปรับตั้งที่ละเอียดมาก มาตรฐานระดับสูงเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการทดสอบที่เข้มงวดกว่ามาตรฐาน Grand Seiko Standard (แกรนด์ ไซโก สแตนดาร์ด) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เหนือกว่าการรับรองระดับ Chronometer (โครโนมิเตอร์) อยู่แล้ว การทดสอบความแม่นยำของเกณฑ์มาตรฐานใหม่นี้ถูกกระทำถึง 6 ตำแหน่ง และดำเนินการทดสอบเป็นระยะเวลา 15 วันโดยจะต้องมีระดับความแม่นยำอยู่ในระดับ ±2 วินาทีต่อวัน

3 ปีต่อมา ใน ค.ศ.1972 Suwa Seikosha ก็ได้สร้างสิ่งที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยทางเลือกใหม่ของรุ่น 61GS V.F.A. ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นแสดงวันและวันที่ โดยบางเวอร์ชั่นของรุ่นนี้จะเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ปรากฎชุดอักษร V.F.A. อยู่บนหน้าปัด

61GS
1968-1975
นาฬิกาในยุคนี้
1968
61GS Calendar
นาฬิการุ่นแรกของญี่ปุ่นที่ใช้เครื่องอัตโนมัติ ความถี่ 10 บีท 61GS เป็นหนึ่งในนาฬิกา Grand Seiko ที่มีช่วงเวลาการผลิตยาวนานที่สุดในยุคทศวรรษที่ 1960s
รายละเอียดทั้งหมด
1968
61GS Week-Dater
นาฬิการุ่นแรกของญี่ปุ่นที่ใช้เครื่องอัตโนมัติ ความถี่ 10 บีท โดยรุ่นนี้มาพร้อมกับฟังก์ชั่นแสดงวันและวันที่
รายละเอียดทั้งหมด
1969
61GS Calendar V.F.A.
V.F.A. หรือ Very Fine Adjusted เป็น Grand Seiko รุ่นแรกที่ให้ความแม่นยำได้สูงถึงระดับ ±2 วินาทีต่อวัน
รายละเอียดทั้งหมด
1970
61GS Special
อีกหนึ่งรุ่นที่มีความแม่นยำเหนือกว่าระดับมาตรฐาน Grand Seiko Standard นาฬิกา 61GS Special (สเปเชียล) รุ่นนี้ให้อัตราความแม่นยำถึงระดับ ±3 วินาทีต่อวัน
รายละเอียดทั้งหมด
1972
61GS Week-Dater V.F.A.
The highest precision of the era updated with day and date display on the dial.
รายละเอียดทั้งหมด
45GS
1968-1975

เครื่องไขลาน ความถี่ 10 บีท

ผู้สืบทอดของรุ่น 44GS และอาจเป็นหนึ่งในเครื่อง Grand Seiko ที่ดีที่สุดในยุคนั้น

ไม่นานหลังจากที่ 61GS เปิดตัวออกมาใน ค.ศ.1968 ทาง Daini Seikosha (ไดนิ ไซโกฉะ) ก็นำเสนอรุ่น 45GS ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเครื่องความถี่ 10 บีท เช่นเดียวกัน หากแต่เป็นเครื่องไขลานที่มีขนาดบางเพียง 3.5 มิลลิเมตร โดยมีเครื่องอยู่ 2 แบบ คือ คาลิเบอร์ 4522 ที่มากับฟังก์ชั่นวันที่แบบเปลี่ยนโดยฉับพลัน และคาลิเบอร์ 4520 ที่บอกเวลาเพียงอย่างเดียว หลาย ๆ รูปแบบของรุ่น 45GS มาในดีไซน์ลักษณะเดียวกับรุ่น 61GS โดยมอบความแม่นยำสูงในระดับเดียวกันหากไม่คำนึงถึงตำแหน่งของนาฬิกาหรือการรบกวนจากปัจจัยภายนอก และในเดือนที่ Suwa เผยโฉมรุ่น 61GS V.F.A. นั้น ทาง Daini ก็นำเสนอรุ่น 45GS V.F.A. ออกมาด้วยโดยใช้เครื่องไขลาน ความถี่ 10 บีท เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่ที่ให้อัตราความแม่นยำถึง ± 1 นาทีต่อเดือนเช่นเดียวกัน

45GS
1968-1975
1968
45GS
นาฬิกา Hi-Beat 36000 รุ่นแรกจาก Daini Seikosha เป็นเลิศด้วยเสถียรภาพระดับสูงและประสิทธิภาพอันโดดเด่นของกลไก
รายละเอียดทั้งหมด
1968
45GS Calendar
45GS เปิดตัวมา 2 ทางเลือก คือ รุ่นมีวันที่และรุ่นไม่มีวันที่ รุ่นรหัส 4522 จะใช้เครื่อง Hi-Beat 36000 ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นวันที่
รายละเอียดทั้งหมด
1968-1970
45GS Astronomical Observatory Chronometer
แม้จะไม่ใช่นาฬิกา Grand Seiko แต่เครื่องจากรุ่น 45GS ได้ถูกนำไปใช้กับนาฬิกาอันแสนพิเศษรุ่นนี้
รายละเอียดทั้งหมด
1969
45GS V.F.A.
จุดสูงสุดของความแม่นยำจาก Grand Seiko และเป็นหนึ่งในเกณฑ์การทดสอบที่เข้มงวดที่สุดในโลก
รายละเอียดทั้งหมด
1970
45GS V.F.A. 2nd
The second generation of the acclaimed 45GS Very Fine Adjusted.
รายละเอียดทั้งหมด
19GS
1968-1973

19GS เรือนเวลาสำหรับสุภาพสตรี

เครื่อง 10 บีท ขนาดเล็กแต่ทรงพลังสำหรับสุภาพสตรี

ค.ศ.1968 เป็นปีที่นาฬิกา Grand Seiko สำหรับผู้หญิงรุ่นแรกถูกสร้างขึ้นมา แม้จะมีขนาดเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ 19GS ก็ให้ความแม่นยำในระดับสูงด้วยเครื่อง 10 บีท ที่บรรจุอยู่ภายใน โดยทั่วไปแล้ว เครื่องที่มีขนาดเล็กกว่าซึ่งใช้จักรกลอกขนาดเล็กกว่าย่อมต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการบรรลุระดับความแม่นยำที่เข้มงวด แต่ 19GS สามารถผ่านมาตรฐานความแม่นยำจากการทดสอบเป็นเวลา 15 วันของ Grand Seiko Standard ได้ อีกทั้ง 19GS ยังถ่ายทอดรูปลักษณ์แบบ Grand Seiko Style ออกมาได้แม้จะมีขนาดที่เล็กกว่าก็ตาม โดยมีทั้งเข็มและหลักชั่วโมงแบบหลายเหลี่ยมมุม หน้าปัดผิวเรียบ และการขัดเงาแบบ Zaratsu ที่ปราศจากการบิดเบือนในภาพสะท้อน ต่อมาใน ค.ศ.1972 Grand Seiko ก็ได้เปิดตัวรุ่น 19GS V.F.A. ซึ่งเป็นนาฬิกาเครื่องจักรกลสำหรับผู้หญิงรุ่นแรกที่ให้อัตราความแม่นยำสูงถึง ± 2 นาทีต่อเดือน สิ่งที่คณะผู้สร้างของ Grand Seiko กระทำกับ 19GS รุ่นแรก ก็คือ การเอาชนะความท้าทายของธรรมชาติเพื่อบรรลุถึงความแม่นยำระดับสูงจากเครื่องขนาดเล็ก ซึ่งเป็นความสำเร็จทางเทคนิคครั้งสำคัญ

19GS
1968-1973
1968
19GS
Grand Seiko สำหรับผู้หญิงรุ่นแรก มากับเครื่อง Hi-Beat 36000 ขนาดเล็กในดีไซน์ตามแบบฉบับของ Grand Seiko
รายละเอียดทั้งหมด
1972
19GS V.F.A.
มาตรฐานความแม่นยำที่สูงอย่างน่าทึ่งถึง ± 2 นาทีต่อเดือน คือ ความสำเร็จของรุ่น 19GS V.F.A. รายละเอียดทั้งหมด
รายละเอียดทั้งหมด
56GS
1970-1975

แพร่ขยายอย่างหลากหลายด้วย 56GS

วิวัฒนาการของการใช้งานและความสบาย

หลังจากที่มุ่งเน้นในด้านความแม่นยำเป็นหลักในช่วงเวลาที่ผ่านมา คณะผู้สร้าง Grand Seiko ที่ Suwa Seikosha ก็ได้หันมาลดขนาดของนาฬิกาลง 56GS ซึ่งเปิดตัวใน ค.ศ.1970 จึงมากับเครื่องอัตโนมัติที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมโดยมีความหนาเพียงแค่ 4.5 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่ถึงแม้จะมีขนาดที่เล็กลง นาฬิกาก็ยังคงรักษาความแม่นยำระดับสูงของรุ่นก่อนเอาไว้ได้

56GS
1970-1975
1970
56GS
Grand Seiko รุ่นแรกที่ใช้เครื่องอัตโนมัติซึ่งไม่มีฟังก์ชั่นวันที่ ขนาดกะทัดรัดของตัวเครื่องทำให้สามารถออกแบบนาฬิกาได้หลากหลายรูปแบบ
รายละเอียดทั้งหมด
1970
56GS Calendar
เมื่อบรรลุระดับสูงสุดของความแม่นยำแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือ การลดขนาดของนาฬิกาและเพิ่มปริมาณการผลิต
รายละเอียดทั้งหมด
95GS
1988-1993

95GS นาฬิกาควอตซ์รุ่นแรกของ Grand Seiko

ความแม่นยำสูง ขนาดบาง สวมใส่สบาย

Grand Seiko นำความเชี่ยวชาญในการสร้างนาฬิกามาใช้กับเครื่องระบบควอตซ์ โดยทำการเปิดตัว 95GS ซึ่งเป็นนาฬิกาควอตซ์รุ่นแรกของตนออกสู่ตลาดใน ค.ศ.1988 ด้วยคุณสมบัติเช่นเดียวกับนาฬิกาจักรกลของตน คือ ไม่ใช่แค่นาฬิกาธรรมดาทั่วไป เพราะเหนือกว่ามากทั้งในด้านคุณภาพในการผลิตและความแม่นยำเมื่อเทียบกับนาฬิกาควอตซ์ส่วนใหญ่ในตลาด ณ ขณะนั้นด้วยความแม่นยำที่มากกว่านาฬิกาควอตซ์ทั่วไปถึง 10 เท่า จากการใช้ผลึกควอตซ์คัดสรรพิเศษที่ต้านทานต่ออุณหภูมิและความชื้นได้ดีกว่า และใช้วงจรรวมแบบใหม่ที่รวมการชดเชยการเปลี่ยนแปลงความถี่ของออสซิลเลเตอร์และตัวควบคุมจังหวะซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการสั่นและความเร็วในการสั่นเอาไว้ด้วยกัน จึงให้อัตราความแม่นยำสูงถึง ± 10 วินาทีต่อปีซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่เคยมีใครทำได้

น่าเสียดายที่ 95GS ขาดลักษณะบางอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของ Grand Seiko ไป นั่นก็คือ เข็มขนาดกว้างใหญ่อย่างที่เคยใช้มาโดยตลอด

95GS
1988-1993
นาฬิกาในยุคนี้
1988
95GS
Grand Seiko หวนคืนสู่โลกนาฬิกาด้วยนาฬิกาควอตซ์รุ่นแรกของตน โดยมากับความแม่นยำที่สูงถึง ± 10 วินาทีต่อปี
รายละเอียดทั้งหมด
9F
1993 – ปัจจุบัน

9F ควอตซ์ที่เหนือกว่าควอตซ์

ยุคใหม่ของการสร้างเครื่องควอตซ์

Grand Seiko แนะนำคาลิเบอร์ 9F ออกสู่ตลาดใน ค.ศ.1993 กลไกควอตซ์คาลิเบอร์นี้เป็นการรวมอัตราความแม่นยำ ± 10 วินาทีต่อปี เข้ากับแรงบิดระดับสูงของเครื่องแบบจักรกล และการใช้พลังงานเพียงน้อยนิด คาลิเบอร์ 9F นำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับนาฬิการะบบควอตซ์ เช่น มอเตอร์ควบคุมแบบ Twin Pulse (ทวิน พัลซ์) ซึ่งทำให้ใช้เข็มที่มีขนาดยาวและหนักอันเป็นลักษณะประจำตัวของนาฬิกา Grand Seiko ได้ ระบบกลไกปรับฟ้นเฟืองโดยอัตโนมัติที่ช่วยขจัดอาการสั่นของเข็มวินาทีในขณะเคลื่อนที่เพื่อมอบความแม่นยำสูงสุดในการบอกเวลา ผลึกควอตซ์ที่บ่มให้มีความเสถียรสูงจับคู่กับวงจรรวมที่ตั้งโปรแกรมให้ตอบสนองต่อปฏิกิริยาของผลึกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และกลไกเปลี่ยนวันที่โดยฉับพลัน

ซีรี่ส์ 9F ยังคงเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนนาฬิการะบบควอตซ์ของ Grand Seiko มาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อ ค.ศ.2018 ได้มีการเปิดตัวคาลิเบอร์ 9F86 ที่มากับฟังก์ชั่น GMT และเข็มชั่วโมงที่สามารถปรับเลื่อนได้อย่างอิสระ และใน ค.ศ.2020 ก็ทำการแนะนำคาลิเบอร์ 9F85 ที่สามารถปรับเลื่อนเข็มชั่วโมงได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีฟังก์ชั่น GMT ออกสู่ตลาด

9F
1993 – ปัจจุบัน
รุ่นต่าง ๆ ของตระกูล 9F
1993
9F83
นาฬิกา “ควอตซ์ที่เหนือกว่าควอตซ์” รุ่นแรกที่เผยตัวตนด้วยความแม่นยำ ความชัดเจน ความทนทาน และความงดงาม ที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
รายละเอียดทั้งหมด
1997
9F62
นาฬิกา “ควอตซ์ที่เหนือกว่าควอตซ์” ที่มาในตัวเรือนขนาดเล็กลง แต่ยังคงคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมไว้เช่นเดิม
รายละเอียดทั้งหมด
9S
1988 - ปัจจุบัน

ยุคใหม่ของการผลิตนาฬิกาจักรกลและรูปแบบ Grand Seiko Style

ค.ศ.1998 เป็นปีที่น่าจดจำสำหรับ Grand Seiko เพราะเป็นปีแห่งการเปิดตัวเครื่องนาฬิกาความแม่นยำสูง 2 คาลิเบอร์ ได้แก่ คาลิเบอร์ 9S55 และ 9S51 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูลคาลิเบอร์ที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของเรือนเวลาจักรกลแบบดั้งเดิมของ Grand Seiko มาจนถึงทุกวันนี้ การถือกำเนิดของคาลิเบอร์ 9S นำมาซึ่งมาตรฐานใหม่ของ Grand Seiko ที่สูงกว่าทั้งมาตรฐานโครโนมิเตอร์ ณ ขณะนั้น และมาตรฐานดั้งเดิมของ Grand Seiko ที่กำหนดขึ้นใน ค.ศ.1966 ด้วยระดับความแม่นยำของค่าความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยรายวันที่ +5 ถึง -3 วินาทีต่อวันโดยมีค่าการผันแปรเฉลี่ยของข้อผิดพลาดรายวันสูงสุดที่ยอมรับได้อยู่ที่ 1.8 วินาที ซึ่งเหนือกว่าอัตรา +6 ถึง -4 วินาทีต่อวัน และค่าความผันแปรเฉลี่ยของข้อผิดพลาดรายวันที่ 2 วินาที ของมาตรฐานโครโนมิเตอร์ อีกทั้งการทดสอบตามมาตรฐาน Grand Seiko Standard ในปัจจุบันนั้นกระทำถึง 6 ตำแหน่งในขณะที่มาตรฐานโครโนมิเตอร์ทำการทดสอบที่ 5 ตำแหน่ง และกระบวนการทดสอบของ Grand Seiko จะใช้เวลาทั้งหมด 17 วันซึ่งมากกว่า 15 วันของการทดสอบโครโนมิเตอร์ ปัจจุบันนี้ เครื่องของ Grand Seiko จะถูกทดสอบภายใต้อุณหภูมิที่แตกต่างกัน 3 ระดับโดยมีแบบทดสอบรองที่ดำเนินการกับอุณหภูมิเป็นเกณฑ์ด้วย หากเครื่องใดเกิดค่าความเบี่ยงเบนเกินช่วงที่กำหนดก็จะไม่สามารถนำมาใช้กับนาฬิกา Grand Seiko ได้

“ความเป็นเลิศโดยไม่ต้องอวดอ้าง”

ด้วยเครื่องนาฬิกายุคใหม่นี้ คณะนักออกแบบของ Grand Seiko ได้รับมอบหมายให้สร้างนาฬิกาที่คู่ควรกับเครื่องเหล่านี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องมอบความงดงามที่ดึงดูดใจได้ชั่วนิรันดร์ ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากแนวคิดที่ก่อให้เกิดรูปแบบ Grand Seiko Style ขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 60s มากเท่าไรนัก

Nobuhiro Kosugi (โนบุฮิโระ โคสุกิ) ผู้เป็นหัวหน้านักออกแบบ เริ่มงานของเขาด้วยการนำแรงบันดาลใจจากอดีตมาพิจารณาโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิมทั้งหมด ปรัชญาการออกแบบใหม่นี้หล่อหลอมขึ้นมาเป็น SBGR001 นาฬิการุ่นแรกในยุคใหม่ของ Grand Seiko ลักษณะของรุ่นนี้ก็คือ การเน้นแนวขอบด้วยพื้นผิวเรียบกับแนวสันเหลี่ยม เข็มชั่วโมง เข็มนาที และหลักชั่วโมงขอบคมดุจมีดโกน การนำสายโลหะมาใช้แทนสายหนัง (และมีรูที่ขาตัวเรือนเพื่อให้ถอดเปลี่ยนสายได้ง่าย) และฟอนต์ตัวเลขแบบใหม่บนจานวันที่เพื่อให้อ่านค่าได้ชัดเจนที่สุด ปัจจุบันดีไซน์เหล่านี้ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งเรือนเวลาใน Heritage Collection (เฮริเทจ คอลเลกชั่น) ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นที่ได้รับความนิยมตลอดกาลของ Grand Seiko

9S
1988 - ปัจจุบัน
รูปแบบต่าง ๆ ของนาฬิกากลไกจักรกล 9S
1998
9S55
นาฬิกาจักรกล Grand Seiko รุ่นใหม่รุ่นแรกในช่วงเวลาเกือบ 25 ปี เครื่องอัตโนมัติ 9S55 ได้กำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับ Grand Seiko ขึ้นมา
รายละเอียดทั้งหมด
1998
9S51
นาฬิกาเครื่องอัตโนมัติ 9S51 (ไม่มีฟังก์ชั่นวันที่) เวอร์ชั่นหรูในตัวเรือนทอง 18K
รายละเอียดทั้งหมด
2002
9S56
การแสวงหาอุดมคติแห่งนาฬิกาเพื่อการใช้งานนำไปสู่ครั้งแรกของฟังก์ชั่น GMT ในนาฬิกา Grand Seiko
รายละเอียดทั้งหมด
2006
9S67
Grand Seiko รุ่นแรกที่มากับเครื่องจักรกลซึ่งสำรองพลังงานได้นานถึง 3 วัน
รายละเอียดทั้งหมด
9R
2004 – ปัจจุบัน

เปิดตัวคาลิเบอร์ 9R เครื่อง Spring Drive แบบแรกของ Grand Seiko

เกือบ 30 ปีของการพัฒนาเพื่อสร้างเครื่องนาฬิกาที่ไม่เหมือนใคร

ประวัติความเป็นมาของเครื่อง Spring Drive (สปริง ไดรฟ์) สามารถสืบย้อนไปได้ถึงยุคทศวรรษที่ 70s ที่ Yoshikazu Akahane (โยชิคาสุ อะกาฮาเน) วิศวกรหนุ่มแห่ง Suwa (ซูวะ) ผู้มีเป้าหมายอันแสนทะเยอทะยานว่าจะสร้างเครื่องนาฬิกาที่สามารถมอบความแม่นยำของระบบควอตซ์โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานอื่นใดนอกจากผู้สวมใส่ ซึ่งก็คือ การสร้างสิ่งที่สามารถนำแรงบิดระดับสูงและแหล่งพลังงานที่ไม่สิ้นสุดของเครื่องนาฬิการะบบจักรกลมารวมเข้ากับอานุภาพความแม่นยำและความเสถียรของเครื่องระบบควอตซ์ ความสำเร็จของการพัฒนาปรากฏขึ้นในอีกกว่า 2 ทศวรรษให้หลังด้วยเครื่องที่ให้ชื่อว่า Spring Drive ซึ่งเป็นเครื่องนาฬิกาจักรกลรูปแบบใหม่ที่ใช้ชุดควบคุมแม่เหล็กไฟฟ้าทำหน้าที่ควบคุมการทำงาน

แม้นาฬิกา Spring Drive รุ่นแรกจะเปิดตัวออกมาตั้งแต่ ค.ศ.1999 แต่กว่าจะถูกนำมาใช้กับนาฬิกา Grand Seiko ก็ล่วงมาจนถึง ค.ศ.2004 โดยมี SBGA001 เป็นนาฬิการุ่นแรกที่ได้ใช้เครื่องคาลิเบอร์ 9R65 ทุกวันนี้เครื่องในซีรี่ส์ 9R ก็ยังคงเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนนาฬิกา Spring Drive ของ Grand Seiko

อีกหนึ่งเรือนเวลาระดับสัญลักษณ์ของ Grand Seiko ได้ถูกนำเสนอออกมาในช่วงเวลานี้ด้วย นั่นก็คือ SBGA011 ที่เปิดตัวออกมาใน ค.ศ.2005 (ปัจจุบัน คือ SBGA211) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “Snowflake” (สโนว์เฟลค) ด้วยรูปแบบหน้าปัดที่สะดุดตาจากลวดลายดุจเกล็ดหิมะที่ถูกลมพัดพาไปรอบดินแดน Shinshu (ชินชู) และรุ่น Snowflake ก็เป็นหนึ่งในเรือนเวลาที่โด่งดังที่สุดในคอลเลกชั่นปัจจุบันของ Grand Seiko

9R
2004 – ปัจจุบัน
รุ่นต่าง ๆ ของตระกูล 9R Spring Drive
2004
9R65
นาฬิกา Spring Drive แบบอัตโนมัติรุ่นแรกของโลก ยอดเยี่ยมด้วยความแม่นยำระดับสูง การทำงานอันราบรื่น และพลังงานสำรองที่ยาวนานถึง 3 วัน
รายละเอียดทั้งหมด
2007
9R86
Spring Drive Chronograph GMT นาฬิกาโครโนกราฟระดับหรูที่มีความแม่นยำที่สุดในโลกถูกเปิดตัวสู่ตลาด
รายละเอียดทั้งหมด
2016
9R01
นาฬิกา Spring Drive รุ่นแรกจาก Micro Artist Studio (ไมโคร อาร์ติสต์) อันโด่งดังที่ให้พลังงานสำรองได้ยาวนานถึง 8 วัน
รายละเอียดทั้งหมด