อำนาจแม่เหล็ก เป็นปัจจัยก่อปัญหาในด้านการประดิษฐ์นาฬิกามานานแสนนานแล้ว และตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ได้มีการกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อจัดการกับสนามแม่เหล็กที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ตั้งแต่การใช้กรงฟาราเดย์ ไปจนถึงการพัฒนาโลหะผสมที่สามารถต้านทานผลกระทบของอำนาจแม่เหล็กได้ดียิ่งขึ้น
ในระดับพื้นฐานแล้ว ส่วนประกอบหลายชิ้นในกลไกจักรกลแบบมาตรฐานนั้นมีความอ่อนไหวต่ออำนาจแม่เหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายใยจักรกลอก เพราะสายใยจักรกลอกที่เกิดสถานะของแม่เหล็กขึ้น จะก่อปัญหากับความสามารถในการรักษาความแม่นยำของเวลา เมื่อสายใยจักรกลอกได้รับอำนาจแม่เหล็กจนทำให้กลายเป็นแม่เหล็กไป ขดสายใยจะเกิดการเกาะติดกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายและการหดของสายใยจักรกลอก ทำให้แอมพลิจูดในการทำงานของกลไกลดลง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความแม่นยำของนาฬิกา
เหล่าวิศวกรและนักประดิษฐ์นาฬิกาของ ชินชู วอทช์ สตูดิโอ จึงเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วยสปริงไดรฟ์
สปริงไดรฟ์ คือ กลไกระดับปฏิวัติและเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่ Grand Seiko สร้างให้กับวงการเครื่องบอกเวลา กลไกสปริงไดรฟ์ ใช้แรงบิดที่เกิดขึ้นจากการคลายตัวของสปริงลานเช่นเดียวกับกลไกนาฬิกาชนิดจักรกล แต่แทนที่ระบบปล่อยจักรแบบดั้งเดิมด้วยระบบควบคุมความแม่นยำของนาฬิกาชนิดอิเล็กทรอนิกซึ่งควบคุมความแม่นยำผ่านการใช้วงจรรวมและตัวสั่นผลึก ส่วนหนึ่งของกลไกชนิดนี้ก็คือ โรเตอร์/จักรเหิน (โปรดอย่าสับสนกับโรเตอร์ที่ใช้แกว่งถ่วงน้ำหนักสำหรับขึ้นลาน) ที่มีแม่เหล็กถาวรซึ่งผ่านการเหนี่ยวนำแม่เหล็ก ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนวงจรรวมและตัวสั่นผลึก ซึ่งทั้งสองสิ่งก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบจักรเหินโดยการใช้และการปล่อยเบรกแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้ว องค์ประกอบสำคัญในการทำงานของสปริงไดรฟ์ ก็คือ อำนาจของตัวแม่เหล็กเอง
ด้วยการใช้วัสดุที่เหมาะสม (ทองเหลือง ฉนวนทองแดง) และการป้องกันที่เพียงพอ ทำให้นาฬิกาชนิดสปริงไดรฟ์ ทุกรุ่นมีความต้านทานต่อแม่เหล็กได้ถึง 4,800 แอมแปร์/เมตร อันเป็นมาตรฐาน ISO ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าข้อได้เปรียบที่สุดของกลไกสปริงไดรฟ์ เมื่อเทียบกับนาฬิกากลไกจักรกลชนิดมาตรฐานก็คือ การไม่มีกลไกปล่อยจักรแบบเดิม ๆ ซึ่งรวมไปถึงสายใยจักรกลอกด้วย เมื่อไม่มีสายใยจักรกลอกให้เกิดสถานะการเป็นแม่เหล็กได้ ผู้เป็นเจ้าของนาฬิกาสปริงไดรฟ์ จึงไม่ต้องกังวลกับการสัมผัสกับสนามแม่เหล็กซึ่งทำให้กลไกเกิดสถานะการเป็นแม่เหล็กโดยไม่ได้ตั้งใจอีกต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ควรทราบไว้ก็คือ การสัมผัสโดยตรงกับสนามแม่เหล็กความเข้มสูงจะสามารถหยุดการทำงานของกลไกได้ชั่วคราว ซึ่งโดยทั่วไปก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้เองหลังจากได้รับการกำจัดสภาวะการเป็นแม่เหล็กแล้ว และในกรณีส่วนใหญ่ ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติมอีก