All Articles
10. 22. 2022
ทุกสัมผัสแห่งความงามนำพาสู่ Grand Seiko บทสรุปตอนที่ 1
เรื่องจากการสัมภาษณ์ สื่อมวลชนด้านนาฬิกา มาซายูกิ ฮิโรตะ

การตกแต่งด้วยลวดลายที่นุ่มนวล ทำให้พื้นผิวของ Grand Seiko มีความงดงามราวกับดาบญี่ปุ่น

ในเนื้อหาของ 8 ครั้งที่ผ่านมา เราได้ทำการสำรวจความงามของญี่ปุ่นจากหลากหลายแง่มุม

บทสรุปในครั้งนี้เป็นเรื่องราวพิเศษจาก มาซายูกิ ฮิโรตะ หนึ่งในสื่อมวลชนด้านนาฬิกาชั้นนำของญี่ปุ่น ผู้เป็นหัวหน้าบรรณาธิการของนิตยสารนาฬิการะดับหรู โครโนส ฉบับภาษาญี่ปุ่น

โดยจะกล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับความงามที่หล่อหลอมอยู่ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นว่ามีความเชื่อมโยงกับ Grand Seiko อย่างไร และยังคงดำรงอยู่ได้อย่างไร บทความนี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับ 2 ประเด็นนี้

แม้ว่ามันอาจไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ความรู้สึกของแสงและเงาแบบญี่ปุ่นก็ปรากฎชัดอยู่ในการออกแบบ

พื้นผิวขนาดใหญ่ที่ได้รับการตกแต่งดุจกระจกเงา ความงามอันเป็นที่ชื่นชมอย่างมากไปทั่วโลก

ทุกวันนี้ Grand Seiko มีแฟน ๆ มากมายอยู่ทั่วโลก ความรู้สึกที่พวกเขามีร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวก็คือ ความงามของญี่ปุ่นที่พบได้ใน Grand Seiko ทุกเรือน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ก็คือ พื้นผิวเรียบที่ปราศจากการบิดเบือนของภาพสะท้อนของนาฬิกา Grand Seiko

อุตสาหกรรมนาฬิกาของญี่ปุ่นนั้นใช้เทคนิคการอัดขึ้นรูปเย็นเป็นหลักในการแปรรูปโลหะให้เป็นตัวเรือนและหน้าปัด กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการใช้แม่พิมพ์โลหะในการอัดขึ้นรูปโลหะด้วยแรงระดับหลายร้อยตันเพื่อสร้างรูปแบบที่ต้องการขึ้นมา ความแม่นยำระดับสูงและความเร็วระดับสูงที่สามารถผลิตรูปร่างที่ซับซ้อนขึ้นมาได้ทำให้วิธีการนี้เหมาะสำหรับการผลิตแบบจำนวนมาก นอกจากนี้กระบวนการขึ้นรูปยังมีข้อได้เปรียบในการเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของผลิตภัณฑ์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การอัดขึ้นรูปเย็นก็มีข้อด้อยด้วยเช่นกัน เนื่องจากโลหะนั้นถูกขึ้นรูปในแม่พิมพ์ การสร้างมุมที่คมชัดและพื้นผิวที่เรียบจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง การอัดขึ้นรูปเช่นนี้เคยเป็นวิธีการที่เหล่าผู้ผลิตนาฬิกาของสวิสนิยมใช้กัน แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อด้อยเหล่านี้แล้ว ผู้ผลิตบางรายจึงเปลี่ยนไปออกแบบตัวเรือนให้ไม่มีมุม ขณะที่ผู้ผลิตนาฬิกาที่สร้างนาฬิกาขึ้นมาในปริมาณน้อยหลายรายเปลี่ยนไปใช้การตัดและสร้างรูปร่างโลหะขึ้นทีละชิ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา

ภาพซ้าย: พื้นผิวขนาดใหญ่ที่ได้รับการขัดเงาอย่างสวยงามของตัวเรือน Grand Seiko ชวนให้นึกถึงดาบญี่ปุ่น

ภาพขวา:การขัดเงาด้วยเทคนิคซารัตสึ มอบพื้นผิวที่เรียบและปราศจากการบิดเบือนของภาพสะท้อน

ในกรณีของ Grand Seiko นั้น ความสำคัญของประสิทธิภาพการทำงานระดับสูงและความแข็งแกร่งระดับสูงในนาฬิกาของพวกเขาทำให้พวกเขาต้องเลือกใช้การอัดขึ้นรูปเย็นเป็นแนวทางหลักในการก้าวไปข้างหน้า เพื่อที่จะเอาชนะข้อด้อยของการอัดขึ้นรูป Grand Seiko จึงเริ่มใช้เทคนิคที่เรียกว่าการขัดเงาแบบซารัตสึ กับพื้นผิวทั่วตัวเรือน วิธีการนี้เป็นการจัดการกับพื้นผิวโลหะของตัวเรือนด้วยการกดเข้ากับพื้นผิวด้านหน้าของจานหมุนอลูมิเนียมที่หุ้มด้วยกระดาษทรายซึ่งต้องใช้ทักษะที่ไว้วางใจได้ของช่างฝีมือชั้นครูผู้มีประสบการณ์มานานหลายปี จึงเป็นเทคนิคที่สูญหายไปจากผู้ผลิตนาฬิกาของสวิส

Grand Seiko ได้ทำการเพิ่มการขัดแต่งพื้นผิวที่แสนท้าทายนี้ทั้งในด้านของขนาดและจำนวนมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด สิ่งนี้ก็ทำให้นาฬิกาข้อมือทั้งเรือนมีความงดงามดุจดาบญี่ปุ่นซึ่งมีการขึ้นรูปและการขัดเงาที่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน อันที่จริงแล้ว สื่อมวลชนในระดับสากลจำนวนมากต่างให้การยกย่องนาฬิกา Grand Seiko เป็นอย่างสูงในแง่ “รูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของญี่ปุ่นซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรมการทำดาบของญี่ปุ่น”

เทคโนโลยีระดับสูงของการกด ทำให้สามารถสร้างลวดลายที่ละเอียดอ่อนได้ ก่อเกิดเป็นหน้าปัดที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มองเห็นแสงและเงาของชาวญี่ปุ่นได้ในรายละเอียดของตัวเรือนและหน้าปัด

ผมเชื่อว่าอีกแง่มุมหนึ่งในเรื่องความงามของญี่ปุ่นที่สามารถพบได้ในนาฬิกา Grand Seiko ก็คือ “แสงและเงา”

นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1960 นักออกแบบนาฬิกา Grand Seiko ได้พยายามสร้างนาฬิกาที่มี “ประกายแห่งความงาม” โดยใช้นาฬิการะดับหรูของชาวตะวันตกเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ต่อมารูปแบบ แกรนด์ ไซโก สไตล์ ก็ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยสมบูรณ์ด้วยรุ่น 44GS ที่เปิดตัวในปี 1967 ตั้งแต่ตัวเรือนไปจนถึงหน้าปัด เข็ม และหลักชั่วโมง ของนาฬิกาได้รับการขัดเงาจนเกิดผิวดุจกระจกเงาอันไร้ที่ติ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมจึงได้ผลลัพธ์เป็นนาฬิกาเรือนงามที่ “เปล่งประกาย” ได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าคุณจะมองจากมุมใด

แม้ไม่ได้ก่อให้เกิดการรับรู้เป็นรูปธรรม แต่ความรู้สึกในเรื่องแสงและเงาของญี่ปุ่นก็ปรากฏอย่างชัดเจนอยู่ในการออกแบบ ยกตัวอย่างเข่นการใช้เข็มและหลักชั่วโมงที่มีลักษณะพื้นผิวเรียบเป็นแนวกว้าง เป็นต้น การใช้พื้นผิวในแนวทแยงอย่างชาญฉลาดทำให้เกิดการผสมผสานของแสงและเงาที่นุ่มนวลอันเป็นลักษณะที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบมาตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งแตกต่างไปจากลักษณะความเปรียบต่างอย่างชัดเจนของแสงและเงาที่พบในโลกตะวันตก พื้นผิวของเข็มและหลักชั่วโมงของ Grand Seiko จับแสงได้แม้กระทั่งแสงที่จางที่สุดซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของศิลปะญี่ปุ่น จึงสามารถอ่านค่าเวลาได้อย่างง่ายดายในทุกสถานการณ์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ Grand Seiko ได้ขยายพื้นที่การแสดงแสงและเงาดังกล่าวไปจนทั่วเรือนนาฬิกา การขัดแต่ง 2 รูปแบบ คือ การขัดเงาแบบซารัตสึ และการขัดแต่งลายแนวเส้นละเอียดแบบแฮร์ไลน์ ถูกนำมาผสมผสานบนตัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรูปลักษณ์แบบญี่ปุ่นให้เด่นชัดยิ่งขึ้นด้วยการ “ลบเลือน” หรือทำให้เฉดสีของแสงและเงาดูอ่อนลง สำหรับหน้าปัดนั้น ขณะที่แบรนด์นาฬิกาสวิสส่วนใหญ่ใช้กระบวนการตัดเพื่อสร้างลายแบบเรขาคณิต แต่ Grand Seiko กลับสร้างลวดลายที่ซับซ้อนยิ่งกว่าได้โดยใช้เทคนิคการกด สิ่งนี้ได้กลายเป็นอีกจุดแข็งที่ยอดเยี่ยมของบริษัท

รุ่น SLGH005 แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ของป่าเบิร์ชสีขาว
รุ่น SBGA211 เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชื่อ “หน้าปัดสโนว์เฟลค” หรือ “หน้าปัดเกล็ดหิมะ”

รุ่น SBGA211 หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “หน้าปัด สโนว์เฟลค” หรือหน้าปัดเกล็ดหิมะ เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ และรุ่น SLGH005 ที่รู้จักกันในนาม “หน้าปัดไวท์เบิร์ช” หรือเบิร์ชขาว ซึ่งได้รับรางวัลนาฬิกาสำหรับบุรุษจากเวที กรองด์ ปรีซ์ ดอร์โลเฌรี เดอ เฌอแนฟ ในเดือนพฤศจิกายน 2021 เป็นตัวอย่างที่ดีในการยืนยันถึงความยอดเยี่ยมของหน้าปัดนาฬิกา Grand Seiko

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตนาฬิกาของสวิสหลายรายก็คือ การเคลือบแล็กเกอร์แบบต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผิวเคลือบที่หนาซึ่งเดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความงามของหน้าปัด แต่ก็ทำให้รู้สึกถึงความลึกได้อย่างชัดเจนในบางสภาพแสงด้วย สำหรับการเคลือบผิว “หน้าปัดเกล็ดหิมะ” นั้นแท้จริงแล้วเป็นสีเงิน การใช้สีเงินเพื่อให้เกิดลักษณะความขาวจากแสงที่สะท้อนออกมาเช่นนี้เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จงใจกระทำเพื่อสร้างความแตกต่างอันละเอียดอ่อนของแสงและเงา

สุนทรียภาพอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ถึงคุณสมบัติที่จำเป็น

ความสวยงามของนาฬิกาไม่เพียงปรากฏอยู่แค่ภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหัวใจของนาฬิกาด้วย ในปี 2020 Grand Seiko ได้ทำการฉลองครบรอบ 60 ปีด้วยการเปิดตัวกลไกใหม่ 2 คาลิเบอร์ ได้แก่ กลไกจักรกล ไฮ-บีท คาลิเบอร์ 9SA5 และกลไก สปริงไดรฟ์ คาลิเบอร์ 9RA5 ซึ่งมีความแม่นยำมากขึ้นและมีรูปทรงเพรียวบางขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหนือชั้นขึ้นไปอีก และในปีถัดมาก็ได้เปิดตัวคาลิเบอร์ 9RA2 ที่ซึ่งมาตรแสดงพลังงานสำรองถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ทางด้านหลังของตัวเครื่อง

ภาพซ้าย: กลไกจักรกล ไฮบีท คาลิเบอร์ 9SA5

ภาพขวา: กลไก สปริงไดรฟ์ คาลิเบอร์ 9RA2

การตกแต่งของเครื่อง 9SA5 เป็นการสลักลวดลายแถบริ้วที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแม่น้ำชิสุกุอิชิ ที่ไหลผ่านจังหวัดอิวาเตะ อันเป็นที่ตั้งแห่งแหล่งผลิตกลไกคาลิเบอร์นี้ การทำให้พื้นผิวเป็นลายซาตินกระทำเพื่อลดแสงสะท้อนและสร้างความรู้สึกที่นุ่มนวล ลักษณะเปรียบต่างที่สะดุดตาเช่นนี้ถูกกระทำเพื่อให้ตัดกับความเจิดจ้าและคมชัดของแนวสันเขาและแนวขอบของสะพานจักรที่แสนคมดุจการตัดเพชร ในขณะที่คาลิเบอร์ 9RA2 สร้างความประทับใจด้วยแสงเรืองอันนุ่มนวลคล้ายกับน้ำค้างแข็งที่พบในขณะอุณหภูมิเยือกแข็งที่ชินชู ในจังหวัดนางาโน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของกลไก สปริงไดรฟ์ บริเวณส่วนขอบของแต่ละชิ้นส่วนได้รับการขัดลบมุมอย่างพิถีพิถันและทำให้เกิดความมนอันละเอียดอ่อน เทคนิคนี้ต้องใช้ทักษะระดับสูงจนผมไม่อาจเข้าใจได้ว่าทำได้อย่างไร การตกแต่งที่ละเอียดอ่อนดังกล่าวช่วยขับเน้นความงดงามของนาฬิกาและทำให้เกิดแสงและเงาแบบญี่ปุ่นในรูปแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

แทนที่จะเน้นองค์ประกอบแบบญี่ปุ่น นาฬิกา Grand Seiko กลับค่อย ๆ โอบรับแสงและเงาเข้ามาผ่านการแสวงหาวิธีการผลิต การใช้งาน และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกถึงความสวยงามแบบญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร ผมสัมผัสได้อย่างแรงกล้าถึงความรู้สึกอ่อนไหวแบบญี่ปุ่นในกระบวนวิวัฒนาการนี้ซึ่งเป็นแนวทางที่ Grand Seiko กระทำ

มาซายูกิ ฮิโรตะ

สื่อมวลชนด้านนาฬิกา และหัวหน้าบรรณาธิการของโครโนส นิตยสารนาฬิการะดับหรูฉบับภาษาญี่ปุ่นท่านนี้ ถือกำเนิดในปี 1974 ที่จังหวัดโอซาก้า เขากระตือรือร้นในการเขียนบทความให้กับนิตยสารและเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้งของญี่ปุ่นและของต่างประเทศ และเป็นนักเขียนร่วมของหนังสือ A Japanese History of Time: How the Japanese Have Created ‘Time’ (อะ เจแปนีส ฮิสทอรี ออฟ ไทม์: ฮาว เดอะ เจแปนีส แฮฟ ครีเอเต็ด ไทม์) และ Japan Made Tourbillon (เจแปน เมด ทูร์บิญอง) ของ Nikkan Kogyo Shimbun (นิกคัน โคเกียว ชิมบุน) และหนังสืออื่น ๆ อีกมากมาย

เขียนโดย = อากิโกะ อินาโมะ

ภาพถ่าย: ยู มิตามุระ

อ่านต่อ