All Articles
11. 22. 2022
ความงามของญี่ปุ่น: บทสรุปตอนที่ 2
เรื่องราวจากการสัมภาษณ์ สื่อมวลชนด้านนาฬิกา มาซายูกิ ฮิโรตะ

บทความชุดนี้จะเผยถึง “ความงามแบบญี่ปุ่น” จากแง่มุมต่าง ๆ บทสรุปของเรื่องราวอันแสนพิเศษนี้เป็นบทความที่เขียนโดย มาซายูกิ ฮิโรตะ หนึ่งในสื่อมวลชนสาขานาฬิกาชั้นนำของญี่ปุ่นและเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของนิตยสารนาฬิการะดับหรู โครโนส ฉบับภาษาญี่ปุ่น โดยเป็นเรื่องราวต่อจากตอนที่ 1 ซึ่งได้ทำการสำรวจความงามของญี่ปุ่นในผลงานของ Grand Seiko กันไปแล้ว สำหรับตอนที่ 2 นี้จะเป็นการนำพาเข้าใกล้ความงามของจิตวิญญาณในการผลิตของ Grand Seiko และรวมไปถึงบริการหลังการขายด้วย

ชิ้นส่วนของ Grand Seiko ถูกสร้างขึ้นให้มีความทนทานและคงทน จึงมีอายุการใช้งานยาวนาน

การได้มาซึ่งนาฬิกาที่มีอายุการใช้งานยาวนานและต้านทานการสึกหรอได้ดีด้วยนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผมเชื่อว่า “ความพรีเมียม” ในนาฬิกาไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของมัน แต่เป็นความสุขในการเป็นเจ้าของและสามารถใช้งานได้นานปี หลังจากที่นาฬิกาจักรกลของ Grand Seiko ถูกฟื้นฟูขึ้นมาในปี 1998 การที่ Grand Seiko เน้นย้ำถึงแนวคิดนี้ในปรัชญาของแบรนด์ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และแท้จริงแล้วรสนิยมนี้ยังเกี่ยวข้องกับสัมผัสแห่งความงามในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นอีกด้วย
สิ่งแรกที่ Grand Seiko กระทำเพื่อขยายอายุการใช้งานของนาฬิกาก็คือ การทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีความแข็งแกร่งและทนทาน ทุกวันนี้ชิ้นส่วนเหล่านั้นล้วนถูกผลิตให้มีความแข็งแกร่งและแข็งแรงกว่าชิ้นส่วนของผู้ผลิตนาฬิกาสวิสระดับไฮเอนด์

นอกจากนี้ การประกอบกลไกยังเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมันหล่อลื่นกับชิ้นส่วนบางชิ้น เพราะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานที่ราบรื่นของเฟืองและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ทำจากโลหะ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ การทำงานของกลไกก็จะเกิดความเฉื่อยอันเนื่องมาจากน้ำมันเกิดการแห้งเหือดซึ่งจะทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ เกิดการสึกหรอและทำให้กลไกนาฬิกาเสียหายได้ Grand Seiko จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อปรับปรุงความแม่นยำในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ทำการปรับรูปร่างของชิ้นส่วนเหล่านั้นเพื่อลดน้ำหนักให้เบาลง นอกจากนี้ความก้าวหน้าในเรื่องของการกักเก็บน้ำมันก็ได้นำพาไปสู่วิวัฒนาการของนาฬิกาข้อมือที่น้ำมันหล่อลื่นในกลไกจะเกิดการแห้งเหือดน้อยลงแม้จะเป็นกลไกที่เคลื่อนไหวด้วยความถี่สูงก็ตาม

อีกคุณลักษณะหนึ่งของ Grand Seiko ซึ่งผมเห็นว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ แม้ว่าทั้งกลไกระบบจักรกลและกลไกระบบสปริงไดรฟ์ จะมีอัตราความแม่นยำอยู่ในระดับสูง แต่แรงบิดของสายลานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนาฬิกาก็ยังน้อยกว่ากลไกของแบรนด์จากประเทศอื่น ๆ สายลานของ Grand Seiko นั้นยากที่จะเกิดความเสียหายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่การลดแรงบิดที่เกิดจากสายลานให้น้อยลงก็ช่วยป้องกันการสึกหรอของชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้มาก คุณลักษณะนี้ทำให้เห็นได้ว่า Grand Seiko นั้นมีความละเอียดอ่อนอยู่ในรากฐานของการผลิต

ชัดเจนโดยไม่ต้องบอกเลยว่าที่ชิ้นส่วนเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบเฟืองและส่วนประกอบต่าง ๆ อย่างพิถีพิถันและระบบการผลิตที่ทำให้กลไกที่พวกเขาผลิตขึ้นมาสามารถให้ความแม่นยำได้สูงถึงเพียงนี้ ด้วยผลลัพธ์จากนวัตกรรมเหล่านี้ Grand Seiko จึงเป็นนาฬิกาที่มีความคงทนและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

การทบทวนรูปร่างของชิ้นส่วนต่าง ๆ และการปรับปรุงการกักเก็บน้ำมัน เป็นการพัฒนาเพื่อให้น้ำมันหล่อลื่นเกิดการแห้งเหือดน้อยลง
ภาพบน: ตามคำแนะนำของช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญสูง เราพยายามทุกวิถีทางในการเก็บสต็อกของทุกชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการซ่อมแซมไว้เป็นเวลามากกว่า 10 ปี แม้จะยุติการผลิตนาฬิการุ่นนั้นไปแล้วก็ตาม

การเปลี่ยนชิ้นส่วนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นาฬิกาที่ซ่อมแซมแล้วจะถูกส่งคืนในสภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม

ความรู้สึกอันงดงามของ “การใช้งานได้อย่างยาวนาน” มิได้สะท้อนให้เห็นในเรื่องของการออกแบบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริการหลังการขายของ Grand Seiko ด้วย ในปีนี้ ระยะเวลาการรับประกันของนาฬิกา Grand Seiko ถูกขยายเพิ่มจาก 3 ปีเป็น 5 ปี ตามคำแนะนำของช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญสูง สต็อกของทุกชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการซ่อมแซมจะถูกเก็บไว้เป็นเวลามากกว่า 10 ปี แม้จะยุติการผลิตนาฬิการุ่นนั้นไปแล้วก็ตาม และระบบสนับสนุนของบริษัทก็จะตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ในการซ่อมแซมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เรื่องราวที่จะเล่านั้นยังมีมากกว่าเครือข่ายความปลอดภัยที่ครอบคลุมเช่นนี้

เมื่อมีการส่งนาฬิกาจักรกลเข้าไปรับการซ่อมบำรุง แบรนด์นาฬิกาส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนสายลาน เฟือง ตลับลาน และชิ้นส่วนอื่น ๆ หรือในช่วงปีหลัง ๆ นี้ก็ถึงกับเปลี่ยนกลไกทั้งเครื่องกันเลย ในทางกลับกัน Grand Seiko จะพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาชิ้นส่วนดั้งเดิมของกลไกเอาไว้โดยให้ความสำคัญกับการใช้ชิ้นส่วนที่มีอยู่แล้วให้เต็มประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างเช่น กลไกควอตซ์ 9F ผลึกควอตซ์ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความแม่นยำกับนาฬิกาควอตซ์นั้น ในกรณีของคาลิเบอร์ 9F ผลึกแต่ละชิ้นจะได้รับการ “บ่ม” โดยการใช้แรงดันไฟฟ้าคงที่เป็นเวลา 90 วันเพื่อชดเชยการเบี่ยงเบนที่มีอยู่เล็กน้อยในคุณสมบัติของผลึก อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของผลึกจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อถูกใช้งาน น่าแปลกใจที่คุณสมบัติของผลึกควอตซ์นั้นสามารถทำการปรับเทียบใหม่ได้เมื่อนำมาเข้ารับการบำรุงรักษา และวงจรรวมก็จะถูกปรับตั้งใหม่ตามไปด้วย

ซ้าย: ในกรณีของการซ่อมบำรุงนาฬิกาควอตซ์ คุณสมบัติของผลึกควอตซ์จะถูกปรับเทียบใหม่ และวงจรรวมก็จะถูกปรับตั้งใหม่ตามไปด้วย

ขวา: ด้วยการเชื่อมด้วยเลเซอร์ รอยขีดข่วนจะถูกเติมร่อง จากนั้นจึงทำการขัดเพื่อให้ได้พื้นผิวที่ใกล้เคียงกับสภาพดั้งเดิมที่สุด

แม้แบรนด์ต่าง ๆ จำนวนมากจะทำการเปลี่ยนกลไกควอตซ์เครื่องใหม่ให้กับนาฬิกาจนเป็นเรื่องปกติ แต่บางแบรนด์รวมไปถึง Grand Seiko กลับเลือกที่จะทำการซ่อมบำรุงแทน ผมเชื่อว่าพวกเขาสามารถทำเช่นนี้ได้เพราะพวกเขาเข้าใจถึงคุณลักษณะของผลึกควอตซ์แต่ละชิ้นอย่างถ่องแท้

ในขณะที่มาตรฐานของการขจัดรอยขีดข่วนบนตัวเรือนจะใช้การขัดเงาแบบซารัตสึ เพื่อเตรียมพื้นผิว แล้วจึงขัดผิวอีกครั้งเพื่อให้เกิดความมันเงา แต่ในกรณีของรอยขีดข่วนที่ลึก การไสและการขัดพื้นผิวจะลดความหนาของโลหะ และจะทำลายความเรียบของพื้นผิวและแนวสันที่คมชัดซึ่งเป็นแก่นแห่งความงามของ Grand Seiko ดังนั้น Grand Seiko จึงพยายามทุกวิถีทางในการทำให้พื้นผิวใกล้เคียงกับสภาพดั้งเดิมมากที่สุดโดยใช้การเชื่อมด้วยเลเซอร์เพื่อเติมรอยขีดข่วนก่อนแล้วจึงทำการขัดเงา

นาฬิกาคุณภาพสูงในอุดมคติของญี่ปุ่น คือ นาฬิกาที่ใช้งานได้อย่างยาวนาน

ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องร้องขอให้ Grand Seiko รักษาแนวทางเช่นนี้ต่อไป เพราะเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นอยู่แล้วที่ทักษะขั้นสูงของช่างฝีมือแห่ง Grand Seiko จะถูกส่งต่อไปยังช่างรุ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไม Grand Seiko จึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะฝึกฝนช่างฝีมือทั้งชายและหญิงของพวกเขา ตัวอย่างเช่น หากการซ่อมบำรุงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนกลไกเครื่องใหม่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่ช่างเหล่านาฬิกาต้องจัดการก็มีแค่เรื่องเกี่ยวกับตัวเรือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถพัฒนาทักษะในการจัดการเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่ละเอียดกว่านั้นหรือถ่ายทอดความรู้ของตนต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ที่ Grand Seiko นั้น ช่างฝีมือทั้งชายและหญิงยังคงต้องดูแลชิ้นส่วนแต่ละชิ้นต่อไป จึงมั่นใจได้ว่าทักษะของพวกเขาจะเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การถ่ายทอดความเชี่ยวชาญยังได้รับความช่วยเหลือจากข้อเท็จจริงที่ว่า ช่างนาฬิกาหนึ่งคนจะดูแลการซ่อมแซมนาฬิกาแต่ละเรือนที่ถูกนำเข้ามารับการซ่อมบำรุงตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การประเมิน การถอดชิ้นส่วน การทำความสะอาด การหล่อลื่น การประกอบ และการปรับตั้งความแม่นยำ ไปจนถึงการตรวจสอบกลไก ในกรณีของช่างเทคนิคที่มีประสบการณ์ยังไม่มากก็จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามและประเมินความก้าวหน้าของพวกเขา ซึ่งช่วยให้เขาปรับปรุงทักษะของตนให้ดีขึ้นได้

ช่างซ่อมนาฬิกาหนึ่งคนจะดูแลการซ่อมแซมนาฬิกาแต่ละเรือนที่ถูกนำเข้ามารับการซ่อมบำรุงตั้งแต่การประเมินไปจนถึงการซ่อมแซม
ทักษะขั้นสูงของช่างซ่อมนาฬิกาชั้นครูจะถูกถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องจากผู้มีประสบการณ์สูงไปสู่ช่างเทคนิครุ่นใหม่

ในญี่ปุ่นนั้นมีวัฒนธรรมในการใช้เครื่องมือแบบต่อเนื่องโดยการใช้เทคนิค คินสึงิ (ศิลปะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นในการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผา) และคนญี่ปุ่นอย่างพวกเราก็หวงแหนในสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติกับวัตถุต่าง ๆ มาโดยตลอด นาฬิกาก็เช่นเดียวกัน มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าหากไปทำการเปลี่ยนกลไกและลักษณะของนาฬิกาที่รับใช้เจ้าของของมันมานาน นี่คือเหตุผลที่ Grand Seiko ใช้ชิ้นส่วนที่ถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานตั้งแต่แรกต่อไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ และส่งคืนนาฬิกาให้กับเจ้าของในสภาพที่ใกล้เคียงกับตอนที่เจ้าของซื้อนาฬิกาเรือนนั้นมา สัมผัสแห่งความงามแบบญี่ปุ่นสามารถมองเห็นได้จากแนวคิดหลักในการบริการหลังการขายที่กล่าวมานี้

ธรรมเนียมที่ Grand Seiko มุ่งเน้นไปที่แก่นแท้ของ “การใช้งานที่ยาวนาน” และทำการขัดเกลาทักษะที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น มีรากฐานมาจากคุณค่าที่ชาวญี่ปุ่นแสวงหามาโดยตลอดในผลิตภัณฑ์ที่หรูหราและมีคุณภาพสูง อาจกล่าวได้ว่าโดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นมักไม่กล่าวอะไรเกินจริง แต่ที่จริงแล้ว ตัวผมเองก็เชื่อว่า นี่คือสิ่งที่นาฬิกาหรูควรจะเป็น

มาซายูกิ ฮิโรตะ

สื่อมวลชนด้านนาฬิกา และหัวหน้าบรรณาธิการของโครโนส นิตยสารนาฬิการะดับหรูฉบับภาษาญี่ปุ่นท่านนี้ ถือกำเนิดในปี 1974 ที่จังหวัดโอซาก้า เขากระตือรือร้นในการเขียนบทความให้กับนิตยสารและเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้งของญี่ปุ่นและของต่างประเทศ และเป็นนักเขียนร่วมของหนังสือ A Japanese History of Time: How the Japanese Have Created ‘Time’ (อะ เจแปนีส ฮิสทอรี ออฟ ไทม์: ฮาว เดอะ เจแปนีส แฮฟ ครีเอเต็ด ไทม์) และ Japan Made Tourbillon (เจแปน เมด ทูร์บิญอง) ของ Nikkan Kogyo Shimbun (นิกคัน โคเกียว ชิมบุน) และหนังสืออื่น ๆ อีกมากมาย

เขียนโดย = อากิโกะ อินาโมะ

ภาพถ่าย: ยู มิตามุระ

อ่านต่อ